“กสิกรไทย”คาดเงินสะพัดช่วงเปิดเทอมกว่า 2.8 หมื่นลบ. โดยผู้ปกครองกว่า 54.2% หวั่นสภาพคล่องทางการเงิน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ในช่วงระหว่างวันที่ 1-28 เม.ย. 2562 จากกลุ่มตัวอย่าง 450 คน พบว่า ผู้ปกครองกว่า 54.2% มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ (แต่เป็นอัตราที่ลดลงจากผลสำรวจในปีก่อน) โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีความกังวลต่อสภาพคล่องทางการเงินมาจากหลายสาเหตุ เช่น เงินออมไม่เพียงพอ, ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้น, จำนวนบุตรที่เข้าเรียนเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การศึกษาเพิ่มสูงขึ้น ฯลฯ นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 5% ที่มีความกังวล จะมีแหล่งเงินที่นำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษามาจากการกู้ยืมและจากการนำของใช้ไปจำนำ ขณะที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมีความกังวลเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่จากผลสำรวจ พบว่า งบประมาณของผู้ปกครองเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 นี้ ส่วนใหญ่มองว่า “คงที่” เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปีที่ผ่านมา แต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจะเป็นค่าเรียนพิเศษ กวดวิชา และการเรียนเสริมทักษะต่างๆ ส่วนค่าใช้จ่ายที่มีการปรับลดลงเป็นสัดส่วนที่มากกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ คือ กลุ่มเครื่องแต่งกายนักเรียน            ขณะที่ปีนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือในการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ปกครองที่ถือบัตรสวัสดิการของรัฐ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายสำหรับผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีมาตรการหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬา สำหรับประชาชนผู้เสียภาษี รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2562 ผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะมีการใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลาน (นักเรียนระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) มูลค่าประมาณ 28,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.6% เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีที่แล้ว จากจำนวนนักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่เพิ่มขึ้น (แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงตามอัตราการเกิดที่ชะลอลง) และการใช้จ่ายในส่วนของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ อาทิ ค่าเรียนพิเศษ/กวดวิชาและเสริมทักษะ ซึ่งกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาของบุตรหลานในภาวะการแข่งขันทางการศึกษาที่เพิ่มสูงขึ้น