สนพ. เผยแผน PDP 2018 พร้อมเดินหน้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า​ เปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พร้อมดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) เพื่อสร้างความมั่นคงและความเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประโยชน์ที่จะได้รับ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า “จากมติ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) แล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2562 สนพ. จึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแผน PDP 2018 โดยแผน PDP 2018 เป็นแผนหลักในการจัดหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศให้เพียงพอกับความต้องการใช้ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกรอบระยะเวลาของแผนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) การพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลงทุนในการผลิตไฟฟ้า ความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้า และการส่งเสริมการแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและคงไว้ซึ่งความมั่นคง สำหรับแผน PDP 2018 สรุปได้ดังนี้ 1. จัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ โดยในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 77,211 เมกะวัตต์ เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 56,431 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2580 และทดแทนโรงไฟฟ้าปลดออกจากระบบ 2. โรงไฟฟ้าหลักประเภทฟอสซิลใหม่ ปรับลดปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินลงจากแผน PDP 2015 เพื่อเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้สอดคล้องกับข้อตกลงของ COP 21 และลดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ โดยเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันมีราคาลดลงมาก ให้ราคาค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับเหมาะสม 3. สัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นร้อยละ 65 ประกอบด้วย ก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 53) และถ่านหินและลิกไนต์ (ร้อยละ 12) 4. สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ได้มาจากฟอสซิล ร้อยละ 35 ขณะที่สัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 12 5. มีการจัดสรรโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ ตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ เช่น ขยะชุมชน โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 6. โครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นไป 7. ให้มีการทบทวนแผน PDP ใหม่ทุก 5 ปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของแผนอย่างมีนัยสำคัญ และให้มีการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า (Grid connection) ในภูมิภาค รวมถึงการเชื่อมโยงกับระบบจำหน่าย เพื่อให้สามารถรองรับพลังงานหมุนเวียนในอนาคต (Grid Modernization) ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วน สามารถเข้าไปศึกษาหรือดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติม แผน PDP 2018 ได้แล้วที่ http://www.eppo.go.th/images/Infromation_service/public_relations/PDP201...