หากพูดถึงประโยชน์ของ "แคลเซียม" สิ่งแรกที่หลายคนทราบกันดี นั่นคือ ทำให้กระดูกและฟันมีความแข็งแรง โดยมีหน้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกระดูกและฟัน และช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้แคลเซียมยังเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ช่วยให้การแข็งตัวของเลือดเป็นไปตามปกติ ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยไปกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ทำให้การส่งสัญญาณกระแสประสาทได้เร็วและสมบูรณ์ขึ้น ทั้งยังรักษาระบบภูมิคุ้มกันและควบคุมความสมดุลของความเป็นกรดและด่างภายในร่างกาย ควบคุมการยืดตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานเป็นปกติ รวมไปถึงกล้ามเนื้อหัวใจ โดยช่วยให้หัวใจทำงานและเต้นเป็นปกติ * แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์แคลเซียมเองได้ จึงต้องได้รับแคลเซียมจากสารอาหารภายนอก แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมสูง ได้แก่ นมสด, นมเปรี้ยว, เนยแข็ง, ไข่, โยเกิร์ต, ปลาตัวเล็กที่เคี้ยวได้ทั้งตัว, กุ้งแห้ง, เต้าหู้, ผักใบเขียว, ถั่วต่าง ๆ และ เมล็ดงา เป็นต้น * จะเกิดอะไรขึ้นหากร่างกายขาดแคลเซียม หากร่างกายขาดแคลเซียม จะทำให้เกิด โรคกระดูกพรุน, ปวดตามข้อ, ชัก, กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก, ตะคริว, ชา, หัวใจหยุดเต้น, เลือดแข็งตัวช้า ฯลฯ * สาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม สาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม ส่วนหนึ่งมาจากความผิดปกติของร่างกาย ได้แก่ ภาวะลำไส้อักเสบ ส่งผลให้การดูดซึมแคลเซียมเสียไป ลำไส้มีความเป็นด่างสูงเกินไป ภาวะขาดวิตามินดี เกิดโรคที่ตับและไต ทำให้การดูดซึมของแคลเซียมลดลง การตัดต่อมพาราไทรอยด์ออก การเข้าสู่วัยสูงอายุ,วัยทอง รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป * ขนาดของแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขนาดของแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน โดยแบ่งตามช่วงอายุ ดังนี้ - อายุ 0 – 6 เดือน ควรได้รับแคลเซียม 210 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 7 เดือน – 1 ปี ควรได้รับแคลเซียม 270 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 1 – 3 ปี ควรได้รับแคลเซียม 500 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 4 – 8 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 9 – 18 ปี ควรได้รับแคลเซียม 1,000 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน) - อายุ 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับแคลเซียม 1,000 (มิลลิกรัม/วัน) - หญิงตั้งครรภ์ อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน) หญิงให้นมบุตร อายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับแคลเซียม 800 (มิลลิกรัม/วัน) * หากได้รับแคลเซียมมากเกินความจำเป็น สำหรับปริมาณของแคลเซียมที่ร่างกายได้รับ ไม่ควรเกิน 2,000 (มิลลิกรัม/วัน) ซึ่งผลของการที่ร่างกายได้รับแคลเซียมเกิน จะทำให้ท้องผูก, แคลเซียมในปัสสาวะสูง เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่วในไต, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีอาการซึมและไม่รู้สึกตัว ฯลฯ * ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน วิธีปฏิบัติเพื่อดูแลร่างกายให้ไม่ขาดแคลเซียม เป็นการช่วยชะลอการสูญเสียมวลกระดูกให้ช้าลง ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน .. เคล็ดลับง่ายๆ มีดังนี้ 1.รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดื่มนมเพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักตัว ช่วยให้มีมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้น รักษาน้ำหนักของร่างกายอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยอย่าให้รูปร่างผอมเกินไป เนื่องจากคนรูปร่างผอมจะมีมวลกระดูกน้อย ซึ่งจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ง่าย นอกจากนี้ในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นวันละ 10 – 15 นาที สัปดาห์ละ 3 วัน ควรพาร่างกายไปรับแสงแดดอ่อนๆ เพื่อให้ร่างกายได้สังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ไปกระตุ้นการสร้างกระดูก 2.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เช่น ไม่ควรกินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะจะไปกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากเกินปกติ ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้ง ชา, กาแฟ, ช็อคโกแลต ในปริมาณมาก เพราะ แอลกอฮอล์และคาเฟอีนจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมทางลำไส้เล็ก 3.งดสูบบุหรี่ งดอาหารรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีโซเดียมสูง รวมไปถึงระวังการใช้ยาบางชนิดที่มีสเตียรอยด์ ซึ่งส่งผลเสียต่อกระดูก และช่วยเร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย 4.ความเครียด ปัจจัยสุดท้ายที่มีผลต่อมวลกระดูก โดยผู้ที่มีความเครียดมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ง่าย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ * ทางเลือกของผู้ที่ต้องการเติมแคลเซียม ในภาวะปัจจุบัน บางคนอาจไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้มากพอ และเข้าหลักเกณฑ์เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน อาจพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เพื่อเสริมสร้างมวลกระดูก ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา โดยควรปรึกษากับเภสัชกรในร้านขายยาก่อนเพื่อความปลอดภัย และได้ประสิทธิผล ข้อมูล : ทีมเภสัชกร บริษัท ไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด