อากาศร้อน!แต่ไม่เท่าความร้อนของ “การประมูลสนามบินอู่ตะเภา” ที่ร้อนจัด..จน “องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น” คงจะได้เริ่มทำงานหนักแต่หัววัน เมื่อเกิดประเด็นที่สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการจัดการประมูล ซึ่งเมื่อวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2562 สื่อดังชี้ประเด็นข่าว “ยกแรกชิงอู่ตะเภา บีบีเอสเขี่ยทิ้งซีพี” ที่ทำให้สังคมตื่น!! แต่ไม่รู้ว่า ปปช.และตัวแทนข้อตกลงคุณธรรมจะตื่นหรือไม่ และรู้เท่าทันการเขี่ยขั้นเทพอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่ ประเด็นที่ 1: การให้ผู้ยื่นซอง 3 ราย ส่งเอกสารเพิ่มใน15 วัน..อย่างนี้ก็ได้หรือ??? ข้อมูลชิ้นสำคัญที่สื่อออกมาให้คือ ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีมติให้ผู้ยื่นซองประมูลทั้ง 3 รายส่งเอกสารเพิ่มเติมภายใน 15 วัน โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ต้องส่งเอกสารยืนยันเกี่ยวกับการเสนอสนามบินนาริตะมาเป็น subcontractor เพื่อบริหารสนามบิน รวมถึงการบำรุงรักษา และพัฒนาสนามบิน ขณะที่กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม จะต้องนำเสนอเอกสารยืนยันประสบการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เสนอขึ้นมา ซึ่งถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัด RFP ที่เอกสารไม่ครบถ้วน แต่เรียกเอกสารเพิ่ม และไม่ควรให้มีการเพิ่มเติมชุดเอกสาร เพราะเสี่ยงต่อการทุจริต ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจสอบใกล้ชิด ประเด็นที่ 2: บางซองต้องส่งก่อนบ่าย 3 บางซองส่งหลังได้...อย่างนี้ก็ได้หรือ?? ประเด็นร้อนการส่งเอกสารให้ทันในเวลา 15:00 น. ถึงขนาดต้องเอากล้องวงจรปิดมาดูกันเลยทีเดียว แต่วงในชี้ ปัญหาคือ พอไปดูจริง ๆ คือดันมีการขนเอกสารเกินเวลากันแทบทุกเจ้า จนสื่อจับพิรุธ และชี้ข้อมูลอ้างอิงจากนายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการด้านบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวถึงกรณีของการยื่นประมูลโครงการร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า เอกสารมีจำนวนมาก พื้นที่การจัดเก็บและการขนมีข้อจำกัด บางกล่องสำคัญก่อนบ่าย 3 บางกล่องหลังบ่าย 3 ได้ แบบนี้ก็ได้หรือ?? คงต้องพึ่งองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นมาช่วยจับตา นอกจากนี้ แหล่งข่าวชี้ทุกเจ้าขนเอกสารไปรอที่ห้องรอ และเรียกรับเอกสารทีละเจ้า กว่าจะเสร็จสิ้นการรับเอกสาร คือ 5 โมงเย็น และสิ่งที่ปวดตับหนักคือ กรรมการเองก็ไม่ทำตาม RFP เพราะเอกสารเยอะ โดยแทนที่จะเปิดเอกสารเลยตาม RFP ในเย็นวันนั้น กรรมการกลับบอกว่าเอกสารเยอะ ขอเลื่อนการตรวจเป็นวันอื่น...แบบนี้ก็ได้หรือ?? โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ถือเป็นโครงการใหญ่ และบทบาทสื่อคือทำหน้าที่จับตา และยกประเด็นให้สังคมช่วยตรวจสอบ และการประมูลอู่ตะเภา ถือว่าได้เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งมีการแต่งตั้งผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 5 ท่าน เป็น ผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าร่วมการประชุม และการดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกอย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ ซึ่งคงได้ใช้บริการแต่หัววัน และทำให้คนไทยสบายใจ ที่มีคนคอยเป็นตัวแทนตรวจสอบเอกชนทั้ง 3 ราย รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการการประมูล เพราะสุดท้ายแล้วหากมีการหมกเม็ด เล่นเกมส์เทคนิคต่าง ๆ ที่ไม่โปร่งใส คนที่เสียประโยชน์คนไทย ที่อุตสาห์ไว้ใจ ส่งตัวแทนองค์กรประชาสังคมไปช่วยตรวจสอบ ต้องขอบคุณพวกเขาเหล่านี้ล่วงหน้าที่เป็นตัวแทนคนไทยทุกคน