"สหภาพยุโรป" หรือ "อียู" อาจจะได้ชื่อผู้นำด้านสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเที่ยมกัน ถึงขนาดได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 2555 มาแล้ว ทว่า ในความเป็นจริงแล้วความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ จากการผสมผสานกันของประชากรที่มีความหลากหลาย ยังเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้กลายเป็นปัญหาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะที่มีคลื่นผู้อพยพหลั่งไหลหนีภัยสงคราม และความยากจน หวังเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในภูมิภาคแห่งนี้ ผู้คนที่มาใหม่ต้องปรับตัวให้เข้ากับระเบียบ ธรรมเนียมเดิมของสังคม พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมได้ แต่กระนั้นก็ต้องหาจุดที่ลงตัวระหว่างความเชื่อ ธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่แตกต่างอันเป็นพื้นฐานของสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึง ย้อนไปเมื่อปี 2551 เจ้าหน้าที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ออกคำสั่งให้สามีภรรยาคู่หนึ่งส่งลูกสาวของทั้งคู่เข้าเรียนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งเป็นวิชาบังคับ แม้ว่าทั้งคู่จะปฏิเสธไม่ยอมให้บุตรสาวของตนเรียนว่ายน้ำร่วมกับเด็กผู้ชาย โดย เจ้าหน้าที่โรงเรียนได้ยื่นข้อเสนอให้เด็กหญิงทั้ง 2 คน อายุ 9 ขวบ และ 7 ขวบในขณะนั้น สามารถสวมชุดว่ายน้ำที่ปกคลุมทั้งร่างกาย ที่เรียกว่า "เบอร์กินี" แบบที่สตรีชาวมุสลิมสวมในระหว่างเข้าชั้นเรียนได้ และเด็กๆ จะมีพื้นที่สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้าโดยที่ไม่มีเด็กผู้ชายอยู่ในบริเวณนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองเด็กหญิงก็ยังคงปฏิเสธที่จะส่งบุตรสาวของตนเรียนว่ายน้ำรวมกับเด็กผู้ชายอยู่ดี ซึ่งในปี 2553 ทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้สั่งปรับทั้งคู่เป็นเงิน 1.4 พันฟรังก์ หรือประมาณ 1,380 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให อาซิส ออสมาโนกลู และเซฮาบัต โคคาบาส ซึ่งถือสัญชาติสวิสส์ และตุรกี ตัดสินใจยื่นฟ้องเรื่องต่อ "ศาลสหภาพยุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน" (European Court of Human Right) และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลฯ ได้มีคำตัดสินยกฟ้อง ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ทั้งคู่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ทางการสวิตเซอร์แลนด์ละเมิดอิสรภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา ซึ่งได้รับการรับประกันตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของยุโรป (European Convention on Human Rights) "เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการปฏิบัติตามหลักสูตรของโรงเรียนเต็มรูปแบบควรอยู่เหนือผลประโยชน์ส่วนตนที่จะขอยกเว้นการเรียนว่ายน้ำของบุตรสาวของผู้ร้อง" ศาลระบุ กรณีนี้เป็นกรณีล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่ขัดแย้งกับการรวมกลุ่มทางสังคม และก่อให้เกิดคำถามขึ้นมาถึง แนวทางที่รัฐจะรับรองมุมมองทางศาสนาของประชากรมุสลิม และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งจำนวนไม่น้อยล้วนแต่เป็นผู้อพยพ ทั้งนี้ การพิจารณาที่มีขึ้นในครั้งนี้ สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานกับกรณีที่คล้ายคลึงกันอื่นๆ ซึ่งจะสร้างความยากลำบากแก่พลเมืองมุสลิม ในแง่ขอศาสนา บรรทัดฐานค่านิยม ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ การตัดสินดังกล่าวมีขึ้นในช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังตกอยู่ในสภาวะยากลำบากในการบูรณาการแรงงานข้ามชาติ ที่ส่วนมากเป็นผู้อพยพจากประเทศมุสลิม ซึ่งเรื่องศาสนา และเรื่องเพศสามารถเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคมเสรีนิยมที่พวกเขาเข้ามาอาศัยอยู่ได้ ซึ่งขณะนี้ กระแสชาตินิยมขวาจัดกำลังแผ่ขยายไปทั่วยุโรป เห็นได้ชัดจากปรากฏการณ์ "เบรกซิต" ประชามติออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ซึ่งคนไม่น้อยไม่พอใจกับปัญหาผู้ลี้ภัยที่เป็นภาษาของรัฐบาลต้องรับผิดชอบตามกฎของอียู โดยพรรคการเมืองขวาจัดซึ่งต่อต้านผู้อพยพตั้งแต่ National Front ในฝรั่งเศส จนถึง Danish People's party ในเดนมาร์ก และ Swiss People's Party ในสวิตเซฮร์แลนด์ ต่างเห็นว่า มุสลิมจำนวนมากไม่ได้ถูกจัดการให้มีการดูดซึมวัฒนธรรม เมื่อเดือน พ.ค. เจ้าหน้าที่ในย่านแลนด์สคาฟต์ ในเมืองบาเซิล ไม่ห่างจากพื้นที่ที่เกิดกรณีชั้นเรียนว่ายน้ำ ได้ตัดสินให้พี่น้องชาวซีเรียซึ่งเป็นผู้อพยพคู่หนึ่ง ซึ่งศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ไม่สามารถปฏิเสธการจับมือทักทายครูผู้สอนได้ โดยอ้างหลักการทางศาสนา เพราะการทำเช่นนั้นของพวกเขาจะเป็นการยั่วยุให้เกิดความโกลาหลแตกแยกได้ ความท้าทายของการบูรณาการทางวัฒนธรรมของผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในทวีปยุโรปยังคงเป็นปัญหาสำคัญ และอาจจะโหมกระพือขึ้นกลายเป็นสงครามทางวัฒนธรรมได้ เช่นในกรณีที่เกิดขึ้นในเดนมาร์ก ลูกชิ้นหมู และอาหารที่ทำจากหมูอื่นๆ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากได้กลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชาติเมื่อปีที่ผ่านมา หลังจากที่เมืองแดนเดอร์ส ได้มีการลงมติกันเมื่อเดือน ม.ค. เรียกร้องให้สถานรับเลี้ยงเด็กสาธารณะ และโรงเรียนอนุบาลบรรจุอาหารจานเนื้อเข้าไปในเมนูอาหารกล่งวันด้วย กลุ่มผู้สนับสนุนฝ่ายหนึ่งระบุว่า การเสิร์ฟอาหารท้องถิ่นที่ทำจากเนื้อหมูถือเป็นการรักษาไว้ซึ่งอัตตลักษณ์ของชาติ ขณะที่ข้อเสนอเมนูเนื้อนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าความพยายามของชาวมุสลิมที่ต้องการพยายามแบนเนื้อหมูออกจากเมนูของโรงเรียน ที่เยอรมนี เหตุการณ์วันปีใหม่เมื่อ 2 ปีที่เมืองโคโลญจ์ ที่มีกลุ่มชายหนุ่มที่ส่วนมากเป็นชาวแอฟริกาเหนือก่อเหตุความรุนแรงทางเพศในระหว่างที่มีการเฉลิมฉลองตามท้องถนน การโจมตีดังกล่าวได้กลายเป็นสัญลักษณ์ความอึดอัดใจของความท้านทายการบูรณาการทางวัฒนธรรมในประเทศ เช่นเดียวกันที่ฝรั่งเศสการปะทะกันระหว่างประชาชน กับพวกอนุรักษ์นิยมทางศาสนาใน 30 กว่าเมือง รวมทั้งข้อเสนอการแบนเบอร์กินี โดยให้เหตุผลว่าบุกรุกวัฒนธรรม และแนวทางการใช้ชีวิตของคนฝรั่งเศส นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้งทางวัฒนธรรมนี้ สำหรับกรณีชั้นเรียนว่ายน้ำที่สวิตเซอร์แลนด์ เจ้าหน้าที่ระบุว่า ชั้นเรียนรวมหญิงชายนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของหลักสูตรในโรงเรียน พวกเขาสามารถให้การยกเว้นบนพื้นฐานของศาสนาได้หากเป็นกรณีของนักเรียนที่เป็นวัยหนุ่มสาว แต่สำหรับกรณีบุตรสาวของนายออสมาโนกลู และนางโคคาบาสนั้นไม่เข้าข่ายนี้ คำตัดสินของคณะผู้พิพากษาทั้ง 7 คนนั้นไม่ได้โต้เถียงว่าการปฏิเสธข้อเรียกร้องของทั้งคู่เป็นการแทรกแซงเสรีภาพทางศาสนาของพวกเขา แต่ได้เน้นถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานร่วมกันทางสังคม และยังได้ระบุถึงหน้าที่ของสถานศึกษาว่า มีบทบาทสำคัญในกระบวนการรวมกลุ่มทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กต่างชาติที่มีความน่าห่วงกังวลเป็นพิเศษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เด็กหญิงทั้งสองคนจะประสบความสำเร็จในการบูรณาการทางสังคมให้เข้ากับวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นได้ ทั้งนี้ พ่อแม่เด็กยังมีเวลาอีก 3 เดือน ในการตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ต่อกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โฆษกของครอบครัวยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็น หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม แต่เชื่อว่ากรณีนี้จะเป็นตัวอย่างสำคัญอีกครั้งถึงปัญหาใหญ่ทางสังคมที่ยุโรปเผชิญหน้าอยู่