-วิษณุเปิดไทม์ไลน์ครม.คลอดมิย.กกต.สั่งตัดสิทธิ11ผู้สมัคร-ขาดคุณสมบัติลงลต.-ศาลรธน.รับวินิจฉัย-ปมสูตร"ปาร์ตี้ลิสต์" "วิษณุ"เปิดไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลนับจาก 8 พ.ค. แนะประชุม "ส.ส.-ส.ว."ในวันเดียวกันเพื่อความสะดวก คาดครม.ชุดใหม่ คลอด มิ.ย.62 อุบไต๋ได้นั่ง ส.ว.หรือไม่ "คสช."ต่อสายขยับจิ้มส.ว.194คนรอบสุดท้าย"สภาฯ" ปัดเปิดไทมไลน์เลือกนายกฯ พร้อมรับรายงานตัวส.ส. ขณะที่ "11 ว่าที่ ส.ส.-ผู้สมัคร อนาคตใหม่" เอาผิด "ศรีสุวรรณ" แจ้งความเท็จกรณีร้องเรียนขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถือหุ้นสื่อ ส่วน "เรืองไกร"ส่ง 4 รายชื่อว่าที่ส.ส."อนุทิน-ณัฏฐพล-เอกนัฏ-ทวีศักดิ์"ให้กกต.เชือด ปมถือหุ้นสื่อฯ เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม พร้อมเรียกร้องกกต.ระงับคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ จนกว่าจะตรวจสอบเสร็จ "กกต."ตัดสิทธิผู้สมัครส.ส.อีก 11 คน เหตุขาดคุณสมบัติ เป็นสมาชิกซ้ำซ้อน สังกัดพรรคไม่ครบ 90 วัน ถูกไล่ออกจากราชการ ทำคะแนนหายหมื่นกว่าคะแนน ส่วน"ศาลรธน."รับคำร้องผู้ตรวจฯปมสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ นัดพิจารณาลงมติ 8พ.ค.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 2 พ.ค.62นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรอบเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เดิมที่กกต.จะประกาศผลเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 150 วัน แต่ทราบข่าวว่าจะประกาศเร็วขึ้น โดยประกาศผลส.ส.ระบบเขตในวันที่ 7 พ.ค. และส.ส.บัญชีรายชื่อในวันที่ 8 พ.ค. และถ้าเป็นเช่นนั้นต้องยึดการประกาศผลอย่างเป็นทางการร้อยละ 95 ในวันที่ 8 พ.ค. โดยจะมีผลถึงวันเปิดประชุมสภาฯ ที่ต้องทำภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันประกาศผล และการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อส.ว. ที่ต้องทำภายใน 3 วัน จากวันที่ 8 พ.ค. ส่วนไทม์ไลน์การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกฯนั้น ตนไม่ทราบ ต้องขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลาตายตัว เนื่องจากสิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากพิธีเปิดสภาฯ คือ การประชุมของแต่ละสภาฯเพื่อเลือกประธานฯและรองประธานฯ ซึ่งเคยให้ความคิดเห็นว่าควรมีการประชุมในวันเดียวกัน เพื่อความสะดวก แล้วนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกฯต่อไป เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีภายในเดือนมิ.ย. นายวิษณุ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์หมายความถึงการมีคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทั้งคณะ ซึ่งตนตอบแบบชี้ชัดไม่ได้ แต่ถ้าวิเคราะห์จากกรอบเวลาต่างๆแล้ว พอมีการโปรดเกล้าฯประธานรัฐสภา ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุม เพื่อเลือกนายกฯโดยเร็ว จากนั้นนายกฯไปพิจารณาพรรคที่จะมาร่วมรัฐและตั้งรัฐมนตรี ซึ่งคงจะล้ำไปในเดือนมิ.ย.แล้ว เมื่อถามต่อว่า รายชื่อส.ว.ที่คสช.จะแต่งตั้ง หากมีชื่อบุคคลในครม.จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ขอให้ช่วยจัดการให้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามก่อนการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อถามอีกว่าในครม.มีใครไปเป็นส.ว.หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ครม.ชุดนี้มีคนสำคัญเยอะคงจะมีมั้ง ส่วนผมนั้นไม่ใช่คนสำคัญ" ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าการคัดเลือกส.ว.จากจำนวน400 คน ที่ผ่านกรรมการสรรหาส.ว.ชุดที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯเป็นประธาน เพื่อส่งรายชื่อต่อให้หัวหน้าคสช.เลือกรอบสุดท้ายเหลือ 194คน ไปรวมกับส.ว.โดยตำแหน่งอีก 6 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 269 ในบทเฉพาะกาลนั้น ขั้นตอนขณะนี้ได้มีเจ้าหน้าที่จากคสช.เริ่มต่อสายไปเเจ้งกับผู้ผ่านเข้ารอบ 194 คน จากนั้นจะมีเอสเอ็มเอส ส่งตามไปอีกครั้งว่า "คสช.จะมีเอกสารสำคัญส่งอีเอ็มเอสด่วนไปให้ทางไปรษณีย์" ซึ่งมีรายงานว่าจะเป็นเอกสารเพื่อให้ผู้ผ่านเข้ารอบกรอกประวัตรยืนยันตัวตนส่งกลับภายในวันที่4 พ.ค. ทั้งนี้ ในโควต้าของสนช.มีบางส่วนได้รับข้อความอีเอ็มเอสบ้างเเล้ว อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวอีกว่า การจิ้มเลือกส.ว.ในรอบสุดท้าย พล.อ.ประวิตร จะให้พล.อ.ประยุทธ์ เลือกเพียงคนเดียว เพราะต้องการหลบกระเเสของวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้หัวหน้าคสช.คัดเลือกส.ว.ในรอบสุดท้าย ด้าน นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกระแสข่าวการเตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภาในวันที่ 21พ.ค.โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดไทม์ไลน์ใดๆเกี่ยวกับการเปิดประชุมรัฐสภา ตนและนายวิษณุ ไม่เคยคุยกันถึงเงื่อนเวลาการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ในวันที่21พ.ค.รวมถึงวันเวลาในการโหวตเลือกนายกฯ ในช่วงหลังวันที่ 24 พ.ค. ทั้งนี้การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกฯจะเป็นวันใดนั้น ต้องรอให้กกต.รับรองส.ส.ให้ครบ95% ก่อน จากนั้นต้องรอพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก และต้องสอบถามพรรคการเมืองว่า มีความพร้อมในวันใดในการเลือกตัวประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกฯทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้มีอำนาจกำหนดเอง ดังนั้นไทม์ไลน์ต่างๆที่ออกมาจึงไม่เป็นความจริง ขณะเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นคำร้องต่อกกต.ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร 4 ราย ว่าเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3)หรือไม่ เนื่องจากถือหุ้นในธุรกิจสื่อ ประกอบด้วย 1.นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 2.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ 3.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผู้สมัครส.ส.เขต 27 กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย จึงขอให้กกต.ตรวจสอบ และถ้าหากบุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติในการลงสมัคร จะถือว่ามีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม รวมถึงต้องยุบพรรคการเมืองตามมาหรือไม่ อย่างไรก็ตามข้อร้องเรียนดังกล่าวมีผลกระทบต่อคะแนนเสียงแต่ละพรรคการเมือง ดังนั้นขอให้กกต.ระงับการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ก่อน จนกว่าจะตรวจสอบให้ครบถ้วนเสียก่อน ส่วน ที่สน.ทุ่งสองห้อง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีว่าที่ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 11 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ในข้อหากระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดกลั่นแกล้งให้ผู้สมัคร ส.ส.ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัคร สิทธิเลือกตั้ง หรือ ประกาศ รับรองผลการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 143 วรรค 2 ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานกกต.เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุว่า กกต.มีมติสั่งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 11 คน ประกอบด้วย นายอธิป แท่นรัตนกุล ผู้สมัครเขต 4 นนทบุรี, นายวัฒนา เทพน้ำทิพย์ เขต 1 นนทบุรี ,น.ส.พรสุปรีฐ์ บุปผานนทพัฒน์ เขต 6 นนทบุรี, นายสมพงษ์ รัตนัง เขต 8 จ.ขอนแก่น ขณะเดียวกันยังพบว่ามีพรรคอื่นด้วยคือ นายสุทัศน์ สัตย์แสง พรรคพลังปวงชนไทย เขต 4 จ.สุรินทร์ ,นายธนัท วัฒนะสิริโชค พรรคประชาธรรมไทย เขต 1 นครราชสีมา ,นายวัชระ วัชระกวีศิลป์ พรรคพลังชาติไทย เขต 4 จ.ร้อยเอ็ด, นายเคน วิเศษสุนทร พรรครวมใจไทย เขต 1 จ.หนองคาย เนื่องจากขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมากกว่า 1 พรรค โดยไม่ให้นำคะแนนของผู้สมัครเหล่านั้นไปใช้ในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบผู้ที่ขาดคุณสมบัติเพิ่มเติมคือ นายบุญชู แก้วกระจ่าง พรรคพลังชาติไทย เขต 4 จ.ราชบุรี เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน และไม่ได้เป็นผู้ร่วมกันจดจัดตั้งพรรคการเมือง นายณัฑฐภณ ฉิมอินทร์ พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 7 เขต 2 จ.สมุทรสาคร เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ นายสำเร็จ วงศ์ศักดา พรรคชาติพัฒนา หมายเลข 3 เขต 13 จ.นครราชสีมา เนื่องจากเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อย่างไรก็ตามผู้สมัครทั้งหมดไม่ชนะการเลือกตั้งส.ส.ในแต่ละเขต แต่คะแนนของทั้ง 11 คน รวมกันแล้วมีประมาณ 12,292 คะแนน ซึ่งจะถูกนำไปหักออกจากคะแนนรวมของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ส่งผลให้คะแนนค่าเฉลี่ยของส.ส.1 คน ลดลง วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (1) และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาตรา 7 (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ โดยได้กำหนดนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 8 พ.ค.62 เวลา 09.30 น.