อุณหภูมิมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นในทุกๆ ปี จากสถานการณ์ “ภาวะโลกร้อน (Global warming)” โดยประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึงกว่า 40◦C ในหลายจังหวัด ความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างหนึ่งซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น คือ “โรคลมแดด (Heat Stroke)” ทำให้สามารถเสียชีวิตได้ภายในครึ่งชั่วโมง แต่หากมีการช่วยเหลือบรรเทาอาการได้ทัน ก็สามารถรอดกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ภายใน 5 นาที นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันได้หากรู้จักสัญญาณเตือนจากร่างกายและบรรเทาอาการอย่างถูกวิธี ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้อธิบายถึงการเกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) ไว้ว่า โดยธรรมชาติมนุษย์จะพยายามรักษาอุณหภูมิให้คงที่ประมาณ 37.2◦C ช่วงที่อุณหภูมิสูงกว่าร่างกายเราโดยเฉพาะในหน้าร้อนซึ่งอาจสูงขึ้นไปถึง 40◦C อุณหภูมิจากภายนอกจะไหลเข้าสู่ร่างกาย ถ้าร่างกายสามารถระบายความร้อนออกได้จะไม่เป็นปัญหาอะไร แต่หากไม่สามารถระบายได้จะเกิดภาวะ “โรคลมแดด (Heat Stroke)” ทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่ไวต่อความร้อน หากร่างกายได้รับความร้อนส่วนเกินสมองจะตายก่อน และเมื่อสมองตายจะทำให้เกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และในที่สุดก็จะเสียชีวิตได้ ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ แนะนำอีกว่า เมื่อเริ่มมีอาการให้รีบเข้าที่เย็น หากมีห้องแอร์อยู่ใกล้ ๆ ให้รีบเปิดแอร์ นำผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าเย็นมาเช็ดตัว ดื่มน้ำมาก ๆ จนปัสสาวะที่ขับออกมาไม่มีสี (ถ้ายังเป็นสีเหลืองแสดงว่าร่างกายยังได้น้ำไม่เพียงพอ) แต่หากมีอาการเป็นลมแดดเรียบร้อยแล้ว ให้ลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วโดยการราดน้ำเย็นลงบนร่างกาย หรือประคบน้ำแข็งตามซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ เพราะเซลล์สมองกำลังตายไปเรื่อย ๆ ถ้าสามารถช่วยได้ทันภายในครึ่งชั่วโมงจากอาการโคม่าไม่รู้สึกตัวจะสามารถฟื้นกลับมาคุยได้ภายใน 5 นาที แต่หากเลยครึ่งชั่วโมงไปแล้วอาจเสียชีวิตหรือพิการ เนื่องจากสมองไม่รับรู้แล้ว ​สำหรับเครื่องดื่มที่แนะนำให้ดื่มในช่วงที่อากาศร้อนจัดหรือมีอาการ คือ น้ำเย็น (น้ำจากตู้เย็นหรือน้ำใส่น้ำแข็ง) และเกลือแร่ เนื่องจากขณะเสียเหงื่อเราจะเสียเกลือแร่ไปด้วย เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่ม คือ ชา กาแฟ และน้ำหวาน (น้ำตาล) ซึ่งเป็นตัวขับปัสสาวะ และสิ่งที่ห้ามดื่มเป็นอย่างยิ่งคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นตัวขับปัสสาวะเช่นกัน และยังเพิ่มการเผาผลาญทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นรวมทั้งยังกดสมองอีกด้วย สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ ศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ แนะนำว่าควรระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติ คือ ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยนอนติดเตียงหรือช่วยตัวเองไม่ได้ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ตับ ไต และมะเร็ง เพราะร่างกายจะต้องใช้กลไกหลายส่วนในการขับความร้อน แต่ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ร่างกายจะไม่ค่อยสมบูรณ์ นอกจากนั้นยาที่ผู้ป่วยโรคเหล่านี้รับประทานบางตัวยังมีผลช่วยให้ขับปัสสาวะ ปิดกั้นการไหลของเหงื่อ หรือทำให้เส้นเลือดไม่ขยายตัว ซึ่งมีผลต่อการกักเก็บน้ำในร่างกายและการระบายความร้อนทั้งสิ้น ซึ่งผู้ดูแลควรศึกษาความรู้ในเรื่องนี้และดูแลอย่างใกล้ชิด อีกกลุ่มเสี่ยงหนึ่งคือผู้ทำงานในสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงหรือผู้ทำงานกลางแจ้ง ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และรีบบรรเทาอาการตนเองทันทีที่มีสัญญาณทางร่างกายเตือน ข้อแนะนำสุดท้ายสำหรับคนทั่วๆไป คือ ในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด พยายามหลีกเลี่ยงอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนหรือกลางแดด ดื่มเย็นน้ำมากๆ แม้ไม่มีอาการใดเลยก็ตาม จะเป็นการป้องกันโรคลมแดดได้