กรมชลฯ เร่งขนน้ำช่วยชาวบ้าน ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย มหาสารคาม หลังประสบปัญหาหนักขาดแคลนน้ำกินใช้กว่า3เดือน พร้อมร่วมระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเต็มรูปแบบบรรเทาความเดือดร้อนพื้นที่ขาดน้ำ ด้านสสนก.เตือนเขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ อุบลรัตน์ เหลือ 0% เมื่อวันที่ 30 เม.ย.62 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)จ.มหาสารคาม นำรถบรรทุกน้ำเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน บ้านเหล่า หมู่ 3 ตำบลเม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม หลังได้รับความเดือดร้อน อย่างหนักจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยแหล่งน้ำผลิตประปาของหมู่บ้าน ไม่สามารถผลิตน้ำประปาสำหรับใช้อุปโภคบริโภคได้มานานกว่า 3 เดือน ทำให้ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำแห่งนี้ ไม่มีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยปกติจะใช้น้ำประปาขององค์การบริหารส่วนตำบลเม็กดำ อาศัยแหล่งน้ำสาธารณะ 3 แห่ง ได้แก่ หนองน้ำบ้านน้อยพัฒนา หนองใหญ่ และหนองบ้านหนองมะเห็บ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 หนองน้ำเริ่มแห้งขอดแล้ว ในเบื้องต้นโครงการชลประทานมหาสารคาม ได้วางแผนการจัดสรรน้ำร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมหาสารคาม อบต.เม็กดำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 2 คัน เข้าไปแจกจ่ายบริการน้ำให้กับประชาชนประมาณวันละ 30,000 ลิตร ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. เป็นต้นมา ทั้งนี้ โครงการชลประทานมหาสารคาม ได้สนับสนุนน้ำจากแก้มลิงหนองคู เพื่อผลิตน้ำประปาให้กับ อบต.เม็กดำ ตั้งแต่เดือนก.พ. เป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทา-สาธารณภัยจังหวัดมหาสารคาม กำลังพิจารณาขอประกาศเขตภัยพิบัติ(ภัยแล้ง) ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2562 นี้ เพื่อขอใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สำหรับใช้สนับสนุนการสูบทอยน้ำจากแก้มลิงหนองคู บ้านตาล็อก ตำบลเม็กดำ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่โครงการชลประทานมหาสารคาม สำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน ได้ดำเนินการขุดลอกไว้เมื่อปี พ.ศ.2558 มีความจุที่ระดับเก็บกักประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบัน (29 เม.ย.62) มีปริมาณน้ำคงเหลือประมาณ 600,000 ลูกบาศก์เมตร โดยได้วางแผนจัดสรรน้ำให้กับประปาส่วนภูมิภาคสาขาพยัคฆภูมิพิสัย จำนวน 300,000 ลูกบาศก์เมตร ยังคงเหลือน้ำอีก 300,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะสามารถสนับสนุนประปาของอบต.เม็กดำได้ ซึ่งอบต.เม็กดำมีความต้องการใช้น้ำสำหรับผลิตน้ำประปา ประมาณเดือนละ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ฉะนั้น แก้มลิงหนองคูจึงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน “ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น ได้ประชุมแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับปภ.จังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค ทั้ง 22 สาขา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2561 และ 22 เม.ย. 2562 ที่ผ่านมาดำเนินการมาตรการเชิงรุกตามข้อสั่งการของนากฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯเร่งช่วยเหลือประชนที่อยู่นอกเขตชลประทาน กับทุกภาคส่วนอย่างเต็มรูปแบบ จัดหาแหล่งน้ำ เปิดเส้นทางน้ำ รถบรรทุกน้ำ จัดส่งน้ำไปถึงชาวบ้าน ทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบสถานการณ์น้ำ และร่วมกันวางแผนให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งได้เน้นย้ำให้เจ้าที่โครงการชลประทานมหาสารคามบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 1 คัน ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลน้ำได้อย่างทันท่วงทีและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ”นายทวีศักดิ์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงาน เว็บไซส์สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์กรมหาชน)สสนก.เตือนเขื่อนน้ำน้อยวิกฤติ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำใช้การได้ 5ล้านลบ.ม.(0%),เขื่อนสิรินธร 34ล้านลบ.ม.(2%),เขื่อนกระเสียว 20ล้านลบ.ม.(7%),เขื่อนทับเสลา 21 ล้านลบ.ม.(13%),เขื่อนขุนด่านปราการชล 35 ล้านลบ.ม.(16%),เขื่อนห้วยหลวง24ล้านลบ.ม.(18%),เขื่อนลำปาว 361 ล้านลบ.ม.(18%),เขื่อนคลองสียัด 81ล้านลบ.ม.(19%),เขื่อนป่าสักฯ 187ล้านลบ.ม.(19%) สำหรับศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน สรุปสถานการณ์การจัดสรรนํ้าฤดูแล้ง ปี 2561/2562 กรมชลประทาน วางแผนการใช้นํ้าจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562) ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ปริมาตรนํ้าต้นทุน สามารถใช้การได้จํานวน 39,570 ล้าน ลบ.ม. โดยวางแผนจัดสรรน้ําทั้งประเทศจํานวน 23,100 ล้าน ลบ.ม. ตามลําดับ ความสําคัญดังนี้ เพื่นการอุปโภค-บริโภค 2,404 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 6,440 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,953 ล้าน ลบ.ม.และอุตสาหกรรม 303 ล้าน ลบ.ม. โดยจัดสรรน้ําในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม.(เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ 6,500 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบํารุงแดน 400 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 400 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ําแม่กลอง 700 ล้าน ลบ.ม.) แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,140 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 1,450 ล้าน ลบ.ม. และเพื่อการเกษตร 5,410 ล้าน ลบ.ม. ผลการจัดสรรน้ำ (อ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่และขนาดกลาง) ทั้งประเทศ ต้ังแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง ปัจจุบัน ใช้นํ้าไปแล้ว 22,220 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนจัดสรรนํ้า ส่วนในเขตลุ่มน้ําเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯและลุ่มน้ำแม่กลอง) วันนี้ใช้นํ้าไป 48 ล้าน ลบ.ม. สำหรับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึง ปัจจุบัน ใช้นํ้าไปแล้ว 8,858 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 111 ของแผนจัดสรรน้ํา ส่วนแผนจัดสรรน้ำปลูกข้าวนาปรัง 8.03 ล้านไร่ ปลูกเกินแผน8.75ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว6.44ล้านไร่ เหลือ2.43 ล้านไร่ ในส่วนพืชไร่ พืชผัก กำหนดแผนปลูก 2.43 ล้านไร่ ปลูก0.59ล้านไร่ ทั้งนี้ กรมชลประทานเตรียมเครื่องสูบน้ําเคลื่อนที่ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่นาปี นาปรัง อุปโภคบริโภค พืชไร่ ในช่วงฤดูแล้ง จํานวน 1,851 เครื่อง ปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ําเพื่อช่วยเหลือตามพื้นที่ จํานวน 177 เครื่อง 39 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย กําแพงเพชร ตาก พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ หนองคาย ยโสธร นครพนม บุรีรัมย์ เป็นต้น