ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา วอนสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คว้ารางวัลเหรียญทอง จากการวิจัยชิ้นงาน “ชุดตรวจสอบคุณภาพวัดน้ำ” (PhosPhate Check Kits) ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ ครั้งที่ 22; XXII Moscow International Salon of Inventions and Innovation Technologies (#ARCHIMEDES2019) จัดโดย "ArchimedExpo", LLC The International Innovation Club “Archimedes” ณ The Moscow Exhibition and Convention Center “Sokolniki” ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2562 ณ กรุงมอสโก ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งการนำเสนอผลงานการประดิษฐ์ในครั้งนี้มีผลงานเข้าร่วมการนำเสนอรวม 800 ผลงาน จาก 33 ประเทศ ทั้งผลงานประดิษฐ์ที่มาจากภาคเอกชน หน่วยงานรัฐบาลและมหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับผลงานวิจัย PhosPhate Check Kits คว้า 5 รางวัลจาการเข้าร่วมนำเสนอในกลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม การป้องกันและกำจัดมลพิษ โดยได้รับรางวัลเหรียญทอง GOLD MEDAL ในงาน ARCHIMEDES 2019 จากประเทศเจ้าภาพจัดงาน และรางวัลพิเศษอื่นๆ จากหน่วยงานนวัตกรรมประเทศร่วมเป็นเจ้าภาพอีก4 รางวัล ได้แก่ 1. GOLD CUP (Special prize on stage) "Innovation and invention activity" salon จาก Archimedes 2019, Russia 2. GOLD CUP of ISINT <> (Special prize on stage) จาก Sevastopol, Russia 3. GOLD MEDAL จาก Roamnina Inventor Forum (European Exhibition of Creativity and Innovation), Romania 4. Certificate จาก ECOLE MAROCAINE DES SCIENCES DE L' 3NGENIEUR, Morocco School of Engineering Sciences ผศ.ดร.วนิดา กล่าวว่า “งานจัยสิ่งประดิษฐ์ PhosPhate Check Kits เป็นนวตกรรมที่ใช้เพื่อการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยพิจารณาจากปริมาณฟอสเฟตในแหล่งน้ำ ผลงานนี้เป็นการสร้างชุดทดสอบ (Test Kits) คล้ายกับชุดตรวจวัดการตั้งครรภ์ สามารถนำไปใช้ทดสอบแหล่งน้ำได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ที่มีราคาแพง ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปทดสอบได้เองอย่างปลอดภัยและให้ผลการทดลองที่ถูกต้อง” ผศ.วนิดา กล่าวต่อว่า “PhosPhate Check Kits ใช้พลาสติกชีวภาพในการทำแผ่นทดสอบ ซึ่งมีข้อดีกว่าชุดทดสอบทั่วไปที่ส่วนใหญ่ทำมาจากกระดาษ การบอกคุณภาพของแหล่งน้ำดูจากการเปลี่ยนสีของแผ่นทดสอบ ซึ่งความเข้มสีจะแปรผันตรงกับปริมาณฟอสเฟตในแหล่งน้ำ หากมีปริมาณฟอสเฟตในแหล่งน้ำมากแสดงว่าต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำจะสังเกตเห็นสีของชุดทดสอบด้วยตาเปล่าเป็นสีน้ำเงินเข้ม และเมื่อปริมาณฟอสเฟตน้อยจะเห็นสีฟ้าจางเนื่องจากชุดทดสอบนี้ทำจากพลาสติกชีวภาพ จึงดีกว่าการใช้กระดาษเนื่องจากสามารถสังเกตสีได้ชัดเจนและสม่ำเสมอชใช้งานได้ในช่วงความเข้มข้นของฟอสเฟตกว้างตั้งแต่ 0.5 – 100 พีพีเอ็ม สะดวกในการนำไปใช้ในงานหลายด้าน เช่น การทดสอบน้ำในสิ่งแวดล้อม น้ำจากแหล่งน้ำชุมชน แม่น้ำ แหล่งน้ำทางการเกษตรและอุตสาหกรรม ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น” “การเดินทางไปนำเสนอผลงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย ตลอดระยะเวลาของการนำเสนอมีทั้งคณะกรรมการประเมินผลงานและผู้มาเยี่ยมชมผลงานให้ความสนใจผลงานชุด PhosPhate Check Kits ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหน่วยงานและองค์กรของรัฐรวมถึงประชาชนทั่วไป จากการนำเสนอและตอบข้อซักถามทำให้ทราบจุดเด่นจุดด้อยของผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถนำมาปรับปรุงแก้ทั้งในผลิตภัณฑ์เดิมหรือแม้แต่ผลงานวิจัยที่เรากำลังพัฒนาขึ้นด้วย ถือเป็นการเปิดโลกงานวิจัยสู่ตลาดโลกได้เป็นอย่างดี ทุกวันเป็นการทำงานที่คุ้มค่า ถามว่าเหนื่อยไหม เหนื่อยค่ะ แต่ประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่าเหนื่อยจริงๆ ค่ะ นอกจากจะสนุกในการนำเสนองาน ยังสนุกและตื่นเต้นกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ที่จะพัฒนางานวิจัยอย่างไรให้ไปสู่นวตกรรม และจากนวตกรรมสู่ตลาดโลกได้ มองอย่างไรให้เห็นจุดเปลี่ยนของงานวิจัยสู่นวัตกรรม และตลาดโลก รางวัลที่ได้รับมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยยืนยันว่าเราสามารถพัฒนางานวิจัยสู่นวตกรรมที่มีคุณค่าได้ ในฐานะตัวแทนผู้วิจัย ขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และสมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและการประดิษฐ์ไทย ที่ช่วยส่วนสนับสนุนผลงานชุด PhosPhate Check Kits จนประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” ผศ.ดร.วนิดา กล่าวในที่สุด