หากเปรียบเทียบเป็นนิยายกำลังภายใน ที่จอมยุทธ์ทั้งหลาย ประฝีมือกันยุทธจักรบู๊ลิ้มด้วยวิทยายุทธ์ทั้งหลายประดามี ก็ต้องบอกว่า “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ของ “พญามังกร” นิกเนมของ “จีนแผ่นดินใหญ่” นี่แหละ คือ วิทยายุทธ์ หรือวรยุทธ์ อันยอดเยี่ยมแห่งยุค เพราะลึกล้ำทั้งด้วยกระบวนท่าไม้ตาย และพลังภายในอันเยี่ยมยอด อย่างยากจะหาวรยุทธ์ใดมาเปรียปาน ณ ชั่วโมงนี้ พ.ศ.นี้ ทั้งนี้ ก็ด้วยทั้ง “โครงการ” ที่ต้องถือว่า เป็น “อภิมหาโปรเจ็กต์” ขนาดมหึมา ที่นอกจากฟื้นฟูเส้นทางสายไหมสายเก่า ก็ยังผนวกเพิ่มเติมสายไหมเส้นทางใหม่ ทั้งทางบก ทางน้ำ เติมเต็มกันแบบไร้ช่องโหว่ให้คู่ต่อสู้โจมตีกันอีกต่างหากด้วย ควบคู่ไปกับ “เม็ดเงิน” ทั้งเพื่อการลงทุน และการก่อสร้าง ที่ “พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่” ในยุคนี้เป็น “เสี่ยกระเป๋าหนัก” พร้อมควักกระเป๋าจ่าย ให้บรรดาประเทศน้อยใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการกู้ยืมไปก่อสร้างและเพื่อการลงทุนด้วยจำนวนมหาศาล พร้อมกันนั้น เพื่อให้โลกต้องจดจำ และเดินหน้าอภิมหาโครงการต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้จัดประชุมนานาชาติเกี่ยวกับอภิมหาโปรเจ็กต์นี้กันเป็นประจำทุกปี ล่าสุด ก็เพิ่งเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการประชุมเบิกม่านเปิดฉากหารือกัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 27 เม.ย.ที่เพิ่งผ่านมานี้ ณ กรุงปักกิ่ง นครหลวง เมืองเอกของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำตลอดกาลแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นประธานการประชุม ท่ามกลางคณะเจ้าหน้าที่ตัวแทนจากชาติต่างๆ 150 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง รวมไปถึงผู้นำประเทศถึง 40 ชาติด้วยกัน เรียกการประชุมอย่างย่อๆ ครั้งนี้ว่า การประชุมบีอาร์เอฟ (BRF : Belt and Road Initiative Forum) การประชุมว่าด้วยเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือบีอาร์เอฟ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งนี้ บรรดาตัวแทนของชาติบนโต๊ะประชุม ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่เข้าร่วมในอภิมหาโปรเจ็กต์ เส้นทางสายไหมข้างต้น ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “ความริเริ่มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “บีอาร์ไอ (Belt and Road Initiative : BRI)” หรือที่หลายคนกันติดปากกว่า “วัน เบลท์ วัน โรด (One Belt One Road)” นั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังมีบางประเทศที่แม้จะยังไม่เข้าร่วมในอภิมหาโครงการ แต่ก็ส่งตัวแทนมาฟังการประชุม เพื่อมิให้ “ตกขบวน” โดยอย่างน้อยก็ส่งเจ้าหน้าที่ระดับกลางเข้ามาในห้องประชุมด้วย ยกตัวอย่าง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นอาทิ เนื่องจากยังมีข้อกังขาในเรื่องเกี่ยวกับความโปร่งใสในอภิมหาโปรเจ็กต์นี้ว่า วาระซ่อนเร้นอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่? บรรดาเจ้าหน้าที่ตัวแทนของชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมบีอาร์เอฟ ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ ปรากฏว่า “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายาพญาอินทรี มหาอำนาจคู่แข่งสำคัญของพญามังกรจีน มิได้เข้าร่วม ในการเปิดเผยของทำเนียบขาว โดย “โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบฯ” ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตัวแทนให้ไปร่วมประชุมครั้งนี้ พร้อมกันนั้น ทาง “โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว” ยังกล่าววิจารณ์ในเชิงปรามาสต่อ “บีอาร์ไอ” ของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยว่า เป็น “โครงการที่ไร้สาระ” อีกต่างหากด้วย ซึ่งประสานเสียงของ “นายไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ” ที่ตำหนิวิจารณ์อภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 นี้ว่า สร้างภาระหนี้สินแบบให้มาติด “กับดักหนี้” แก่ประเทศที่มากู้ยืมจากทางการจีนเพื่อไปก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ ให้สอดรับกับอภิมหาโครงการข้างต้น นอกจากสหรัฐฯ ก็ยังมี “อินเดีย” แดนภารตะที่หันหลังให้กับอภิมหาโปรเจ็กต์นี้เลยทีเดียว โดยทางการนิวเดลี ถิ่นโรตี ให้เหตุผลว่า เส้นทางสายไหมที่ว่า ละเมิดอธิปไตยของอินเดีย เนื่องจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปใช้พื้นที่ที่อินเดียมีข้อพิพาททับซ้อนกับปากีสถาน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะติงเตือนต่อบรรดาประเทศที่ไม่ได้ให้ความสนใจกับอภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนแผ่นดินใหญ่อย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสหรัฐฯ โดยนักวิชาการจาก “มหาวิทยาลัยบัคเนลล์” ในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ เอง ก็ยังแสดงทรรศนะสะกิดเตือนว่า แทนที่สหรัฐฯ จะพยายามเซาะบ่อนทำลาย ในอันที่จะทำลายโครงการให้เสื่อมเสียชือเสียง สหรัฐฯ ควรที่จะเปลี่ยนไปร่วมมือกับจีนแผ่นดินใหญ่ในโครงการดังกล่าวจะดีกว่า โดยสหรัฐฯ จะใช้เป็นเวทีในการสำแดงอิทธิพลในอันที่จะทำให้เส้นทางสายไหมยุคใหม่ข้างต้น มีความโปร่งใสและกดดันให้จีนแผ่นดินใหญ่ เคารพในกฎระเบียบกติการะหว่างประเทศมากขึ้น ภาพตกแต่งแสดงการสัประยุทธ์กันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแผ่นดินใหญ่ ในการช่วงอิทธิพลอำนาจในเวทีโลก ทว่า เมื่อสหรัฐฯ หันหลังให้กับโครงการนี้แล้ว ก็กลับกลายเป็นว่า จีนแผ่นดินใหญ่ ได้โชว์เดี่ยว วัน แมน โชว์ ในการสำแดงพลังขับเคลื่อนเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษ 21 นี้ แต่เพียงผู้เดียวแบบไร้เทียมทาน ไร้ผู้ต่อต้าน ซึ่งเข้าทางสมประโยชน์ของพญามังกรที่หมายมั่นปั้นมือว่า เวทีนี้จะเป็นสังเวียนโชว์พาว สำแดงพลังทางอิทธิพลทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ในระดับนานาชาติให้เป็นที่ประจักษ์