วันที่ 28 เม.ย.62 “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนและความสุขและความคาดหวังของแรงงานไทย 2562 ระบุว่า เนื่องด้วย วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ตรงกับวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้ใช้แรงงาน เรื่อง “ความสุขและความคาดหวังของแรงงานไทย 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายน 2562 จากประชาชนผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคและระดับการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความสุขในการทำงานและสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตแรงงานไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลักที่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 จากการสำรวจโดยใช้ข้อคำถามหมวด Happy Work Life (Happy Plus) / การงานดี จากคู่มือการวัดความสุขด้วยตนเอง HAPPINOMETER ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ระดับความสุขของผู้ใช้แรงงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.89 ระบุว่า มีความสุข รองลงมา ร้อยละ 27.39 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ไม่มีความสุข และร้อยละ 0.79 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ช่วยเหลือแรงงานไทยมากที่สุด พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า พิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ รองลงมา ร้อยละ 21.97 ระบุว่า เพิ่มสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ร้อยละ 11.31 ระบุว่า ส่งเสริมพัฒนาทักษะความรู้ ด้านฝีมือให้กับแรงงานไทย ร้อยละ 10.59 ระบุว่า แก้ไขปัญหาการว่างงาน ร้อยละ 6.69 ระบุว่า ตรวจสอบ/ควบคุม นายจ้าง ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบ ร้อยละ 2.07 ระบุว่า การแย่งงานของแรงงานต่างด้าว และร้อยละ 0.24 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ลดอัตราภาษี ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีกองทุนรวมเหมือนรัฐวิสาหกิจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงสิ่งที่แรงงานไทยอยากได้รับการพัฒนาฝีมือมากที่สุดพบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.69 ระบุว่า ด้านภาษาต่างประเทศ รองลงมา ร้อยละ 12.90 ระบุว่า ด้านช่างอุตสาหกรรม ร้อยละ 10.19 ระบุว่า ด้านคอมพิวเตอร์ ร้อยละ 7.40 ระบุว่า ด้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 6.93 ระบุว่า ด้านโซเชียลมีเดีย ร้อยละ 6.53 ระบุว่า ด้านช่างก่อสร้าง ร้อยละ 5.41 ระบุว่า ด้านช่างซ่อมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 4.86 ระบุว่า ด้านช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 3.50 ระบุว่า ด้านช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ร้อยละ 0.88 ระบุว่า ด้านช่างผม และร้อยละ 2.71 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่มีสิ่งที่อยากพัฒนา เมื่อพิจารณาลักษณะผู้ใช้แรงงานที่เป็นตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.76 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.96 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.36 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.85 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 57.72 เป็นเพศชาย และร้อยละ 42.28 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.38 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 25.64 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 27.86 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 34.24 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 6.77 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 92.91 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.31 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.48 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 4.30 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 23.97 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 67.83 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.34 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 4.86 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.40 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.87 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.24 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.77 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 2.70 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.02 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 41.80 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน และร้อยละ 58.20 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 25.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 39.57 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 13.06 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.97 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.25 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.59 ไม่ระบุรายได้