รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ สุราษฎร์ฯ ตรวจพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแก้ปัญหาภัยแล้ง นายถวิล มั่งนุ้ย รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำงานพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในพื้นที่ บ้านคลองสินทอง หมู่ที่ 8 ตำบลมะลวน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมแก้ปัญหาภัยแล้ง โดย อบต.มะลวน ได้รับการสนับสนุนระบบส่งน้ำให้เกษตรกรและประชาชนใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2562 ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร และการอุปโภค-บริโภคในครัวเรือนได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้ลงพื้นที่เร่งรัดติดตามการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งทางการเกษตรในพื้นที่บ้านพุฒทอง หมู่ที่ 14 ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ภัยแล้งซ้ำซาก นายถวิล มั่งนุ้ย รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำความจุ 70,000 ลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 2559 แต่พื้นที่ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี เป็นพื้นที่สีแดงใน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก เมื่อการดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร็จนั้น เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลอ่างเก็บน้ำ ก็ยังขาดน้ำในพื้นที่การทำเกษตร น้ำไม่สามารถลำเลียงไปถึงพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรได้ ทางสถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร จึงได้ดำเนินการโครงการสร้างระบบท่อส่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 121 ครัวเรือน ในขณะนี้สามารถก่อสร้างไปแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็น พร้อมเร่งดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ให้แล้วเสร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ถูกวิธี บรรเทา ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่บ้านพุฒทอง หมู่ที่ 14 ตำบลตะกุกใต้ อำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนใหญ่ปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ยางพารา สวนผลไม้ ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล โดยคาดว่าหลังจากโครงการสร้างระบบท่อส่งน้ำ นี้แล้วเสร็จ ทางกรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันเพื่อปลูกผัก ปลูกพืชผสมผสาน เนื่องจากมีน้ำเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำและมีท่อส่งน้ำลำเลี้ยงน้ำไปยังพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี และต้องการที่จะแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน