พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกและลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้ รับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแผนการจับกุม/ดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรมลักลอบนำพาคนหางานไปทำงานเกาหลีใต้ การสกัดกั้นคนหางานที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงาน และการขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมลักลอบนำพาแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้ พร้อมเตรียมมาตรการรับแรงงานไทยกลับจากเกาหลี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่ง และ 3 มาตรการป้องกันการลักลอบ สร้างการรับรู้ ยับยั้ง สกัดกั้น และบังคับใช้กฎหมาย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ กระทรวงแรงงาน พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานที่เกาหลีใต้ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กรมการกงสุล กรมการท่องเที่ยว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ บริษัทท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) สถานเอกอัครราชทูตเกาหลีประจำประเทศไทย สำนักงาน HRD korea สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด สายการบิน Eastar jet สายการบิน Jin Air สายการบิน Korean Air เป็นต้น ร่วมประชุม พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมหารือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกหลอกลวง และลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ ว่า จากกรณีที่มีข่าวเผยเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่าคนไทย 300 คน ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ปฏิเสธการเข้าเมืองและกักตัวไว้ที่สนามบินอินชอนเพื่อผลักดันกลับประเทศต้นทาง ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มิได้นิ่งนอนใจ โดยวันนี้ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมาหารือร่วมกันเพื่อรับทราบความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการสกัดกั้นคนหางานที่มีพฤติกรรมจะลักลอบไปทำงาน แผนการจับกุม/ดำเนินคดีผู้มีพฤติกรรมลักลอบนำพาคนหางานไปทำงานเกาหลีใต้ และการขึ้นบัญชีดำผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมลักลอบนำพาแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใต้ เพื่อบูรณาการและสร้างความร่วมมือเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาโดยเร็ว โดยหลักการจะดูแลแรงงานที่ไปให้ถูกต้องก่อน ขณะเดียวกันจะดูแลแรงงานที่ไม่ถูกต้องอย่างไร พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของแรงงานที่จะเดินทางไปใหม่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงไปทำงาน ในเบื้องต้นได้มีแผนรองรับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ และเตรียมการบริหารจัดการแรงงานไทยไปเกาหลีใต้ ใน 3 ประเด็น คือ 1) รับแรงงานที่กลับประเทศ โดยกรมการจัดหางานได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (กทม.) สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม ณ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิและดอนเมือง 2) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งแรงงานไทยเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยดำเนินการลงทะเบียนผู้มีความประสงค์จะฝึกอบรมภาษาเกาหลีกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ณ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครทั้ง 10 เขต และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติแจ้งลดระยะเวลาการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (C.I.D) จาก 30 วัน เป็นไม่เกิน 10-15 วันทำการ และเจรจากับ KRD Korea ขอเพิ่มโควตาในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลีใต้ภายใต้โครงการ EPS จากเดิม 5,000 คน เพิ่มเป็น 15,000 คน ขอขยายอายุของแรงงานไทยจากเดิมไม่เกิน 39 ปี เป็นไม่เกิน 45 ปี ขอให้แรงงานหญิงเข้าไปทำงานมากขึ้น ตลอดจนขอขยายระยะเวลาการทำงานจากเดิม 9 ปี 8 เดือน เป็น 14 ปี 3) ป้องกัน การลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ตรวจสอบสกัดกั้นคนหางาน ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 – 25 เมษายน 2562 ตรวจสอบจำนวน 3,784 คน ระงับการเดินทางผู้มีพฤติกรรมลักลอบไปทำงาน 2,758 คน (ร้อยละ 72.89) ไม่ระงับการเดินทาง 1,026 คน (ร้อยละ 27.11) ดำเนินคดี สาย/นายหน้า จำนวน 24 ราย 18 คดี โดยขณะนี้มีคนไทยที่เกาหลีใต้จำนวน 165,854 คน พำนักอยู่อย่างถูกกฎหมาย 22,685 คน พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย 143,169 คน แรงงานมีวีซ่าทำงาน 25,243 คน เป็นแรงงานที่จัดส่งโดยรัฐตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) จำนวน 21,021 คน โดยมีโควต้าจัดส่ง 5,000 คนต่อปี ทำงานในภาคการผลิต ก่อสร้าง เกษตรกรรม ซึ่งในปี 2561 มีการจัดส่งจำนวน 6,203 คน และปี 2562 (ม.ค.-เม.ย.62) จำนวน 1,642 คน ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการมี 3 มาตรการได้แก่ 1. มาตรการสร้างการรับรู้ โดยหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้แรงงานไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน 2. มาตรการยับยั้ง โดย จัดชุดเฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างเข้มงวดที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ตลอดจนจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ หรือสายสืบออนไลน์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารตลอดจนแจ้งเตือนคนหางานมิให้หลงเชื่อคำโฆษณาหรือคำกล่าวอ้างของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่โพสต์ข้อความหรือรูปภาพชักชวนให้ลักลอบไปทำงานในต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 3. มาตรการบังคับใช้กฎหมาย โดยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและบทลงโทษกรณีที่ลักลอบไปทำงาน ขึ้นบัญชีดำบริษัทและสาย/นายหน้าที่หลอกลวงและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ป้องกันและตรวจเข้มเพื่อสกัดกั้นการลักลอบไปทำงานที่สนามบิน มีผลการดำเนินการสกัดกั้นคนหางาน พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานไทยลักลอบเดินทางไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างเข้มงวดและจริงจัง เพราะเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากได้รับค่าจ้างสูงประมาณ 55,844 บาทต่อเดือน และนายจ้างเกาหลีมีความต้องการจ้างแรงงานไทย เนื่องจากมีฝีมือมีวินัย และอดทน โดยมีนโยบายให้การดูแลแรงงานไทยทั้งหมดไม่ว่าถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย มีการเตรียมการให้แรงงานใหม่ตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้างเกาหลี พร้อมทั้งดำเนินมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการลักลอบทำงานหรือถูกหลอกไปทำงาน อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศ หรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน ก่อนตัดสินใจ อย่าหลงเชื่อคำชักชวน โดยปราศจากข้อมูล โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ใช้วีซ่าท่องเที่ยวในการทำงานไม่ได้ ควรเตรียมความพร้อมก่อนไปทำงาน เช่น ด้านร่างกาย ทักษะฝีมือ ภาษา เป็นต้น คิดให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการเดินทาง เช่น ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับค่าจ้างที่จะได้รับ หรือการที่ต้องอยู่ห่างจากครอบครัว เป็นต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน