ถูกยกให้เป็น “ซัมมิต” หรือ “การประชุมสุดยอด” ระดับ “ผู้นำประเทศ” ที่โลกจับตาจ้องมองด้วยความสนใจที่สุดครั้งหนึ่ง สำหรับ ฉากการซัมมิตระหว่าง “ประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ” ประเทศเจ้าของฉายา “โสมแดง” กับ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” สมญาประเทศ “พญาหมี” ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ การจับตาของประชาคมโลก ก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ “คิมน้อย” นิกเนมของ “ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ” คนปัจจุบัน เดินทางออกจากถิ่นโสมแดงตั้งแต่ช่วงค่ำวันอังคารแล้ว ด้วยปรากฏว่า เขาใช้ยานพาหนะสำหรับการเดินทางอย่างไม่มีใครเหมือน และก็ไม่เหมือนใคร เพราะแทนที่จะใช้ “เครื่องบิน” หรือ “นกเหล็ก” ที่เดินทางได้อย่างรวดเร็ว ก็ใช้ “รถไฟ” หรือ “ม้าเหล็ก” ซึ่งว่ากันว่า เป็น “รถไฟกันกระสุน” อีกเหมือนเคย เฉกเช่นเมื่อครั้งเดินทางเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ที่นับว่าไกลโขอยู่ ในการประชุมสุดยอดนัดประวัติศาสตร์แต่ละครั้ง โดย “ประธานคิม จอง-อึน” เดินทางด้วยรถไฟกันกระสุน เริ่มออกจากสถานีรถไฟคาซาน (Khasan Station) เมืองคาซาน ของเกาหลีเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ตรงบริเวณรัฐพรีมอสกีไคร (Primosky krai) มุ่งหน้าไปยังนครวลาดีวอสตอค เมืองท่าทางภาคตะวันออกของรัสเซีย ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 260 กิโลเมตร หรือ 162 ไมล์ เบื้องต้นคาดว่า จะใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง ก็เดินทางไปถึง แต่ปรากฏว่า “คิมน้อย” ไม่เร่งร้อนอะไร เดินทางไปอย่างสบายๆ แวะพักตามจุดสำคัญๆ ก็เลยใช้เวลาไปถึง 9 ชั่วโมง ก่อนไปเหยียบเมืองท่าอันเลื่องชื่อของแดนพญาหมีแห่งนี้ เมื่อวันพุธ กลางสัปดาห์ที่ผ่านพ้นไป พลันที่ “คิมน้อย” ย่ำนครชายแดนรัสเซีย ก็ได้รับการต้อนรับตามแบบฉบับดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง สำหรับการต้อนรับอาคันตุกะคนสำคัญ นั่นคือ ได้รับมอบ “ขนมปัง” และ “เกลือ” จากชาวเมืองไว้เป็นที่ระลึก ประธานคิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ เดินทางมาถึงเมืองวลาดีวอสตอค ของรัสเซีย ก่อนมีกำหนดการพบปะกับประธานาธิบดีปูติน ในการประชุมสุดยอด หรือซัมมิต นัดประวัติศาสตร์ เพราะเป็น “ซัมมิตกันครั้งแรก”กับผู้นำตัวจริงเสียงจริงของแดนพญาหมีแห่งนี้ ซึ่งมีขึ้นที่ “มหาวิทยาลัยสหพันธรัฐตะวันออกไกล” หรือ “ฟาร์ อีสเทิร์น เฟเดอรัล ยูนิเวอร์ซิตี (Far Eastern Federal University) สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเลื่องชื่อประจำเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อว่าถึงประธานาธิบดีปูตินแล้ว ก็ต้องถือเป็นครั้งที่สาม ที่ได้พบปะกับผู้นำของเกาหลีเหนือ เพราะเขาเคยพบกับ “คิม จอง-อิล” บิดาของ “คิมน้อย” เมื่อปี 2545 และในปี 2554 มาแล้ว ส่วนการพบปะกันครั้งนี้ ก่อนที่จะถึงกำหนดการ ก็ได้กรุยทางกันด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงกันไปก่อนหน้า กล่าวกันถึงประเด็นที่ถูกจะหยิบยกขึ้นมาถกกันนั้น ตามหน้าเสื่อความเชื่อ ความสนใจ ทั่วไปแล้ว ก็ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “โครงการก่อสร้างและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ” ที่โลกจับตาจ้องมอง ว่าจะล้ม จะเลิก หรือการปลดอาวุธกันอย่างไร โดยที่โสมแดง ไม่ “เสียของ” กันอย่างเปล่าๆ ปลี้ๆ หลังประสบความล้มเหลวในการเจรจากับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ บนเวทีซัมมิตรอบสอง ซึ่งมีขึ้น ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า แท้จริงแล้ว ประธานคิม มีประเด็นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าเรื่องนิวเคลียร์ ถกกับประธานาธิบดีปูติน ด้วยเหมือนกัน เพราะ “คิมน้อย” กำลังวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ เรื่อง “แรงงานเกาหลีเหนือในรัสเซีย” โดยมีรายงานทางสถิติตัวเลข ระบุว่า มีชาวเกาหลีเหนือ จำนวนนับหมื่นๆ คน ทำงานอยู่ในรัสเซีย ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ใน “ภาคอุตสาหกรรมป่าไม้” ที่ “ประธานคิม” หวั่นวิตกว่า บรรดาแรงงานชาวโสมแดงเหล่านี้ อาจถูกส่งกลับเกาหลีเหนือ หากมาตการคว่ำบาตร หรือแซงก์ชัน เพื่อลงโทษต่อเกาหลีเหนือด้านแรงงานของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น มีผลบังคับใช้ในสิ้นปีนี้ ซึ่งก็เท่ากับว่า เกาหลีเหนือต้องขาดรายได้จากแรงงานที่จะส่งกลับมายังประเทศ รวมถึงมีผลต่ออัตราการว่างงานในเกาหลีเหนือให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย แรงงานเกาหลีเหนือ ที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมป่าไม้ในรัสเซีย ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากรัสเซีย ที่เกาหลีเหนือต้องการ โดยมีรายงานว่า ถิ่นโสมแดงกำลังต้องการความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านอาหารจากรัสเซีย ซึ่งเกาหลีเหนือกำลังขาดแคลนอย่างหนักในช่วงฤดูร้อน อันแห้งแล้งหนักอย่างนี้ ภาวะขาดแคลนอาหารอันสืบเนื่องจากปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูร้อนในเกาหลีเหนือ ที่ประธานคิม จอง-อึน วิตกกังวล นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นเรื่องนิวเคลียร์ ที่โลกกำลังเฝ้าจับตาจ้องมองกันว่า ซึ่งคาดการณ์กันว่า ประธานคิม ต้องขอความช่วยเหลือจากรัสเซีย สำหรับเป็นปากเป็นเสียง ช่วยบรรเทามาตการลงโทษในเวทีระหว่างประเทศที่เกาหลีเหนือกำลังเผชิญหน้าอยู่นี้ โดยการที่ “โสมแดง” หันมาซบอก “พญาหมี” ที่ “คิมน้อย” กำลังดำเนินตามนโยบายการทูตที่กระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเดินหน้ามาขวบปีครึ่งแล้วนั้น “ประธานคิม” เคยส่งสัญญาณต่อหน้าชาวโสมแดงตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ว่า จะดำเนิน “นววิถี” หรือ “วิถีใหม่ (New Way)” ในอันที่จะบรรเทาเยียวยาปัญหาที่เกาหลีเหนือเผชิญหน้าอยู่ ด้วยการเพิ่ม “ตัวช่วย” นั่นคือ รัสเซีย นั่นเอง โดยมีวัตถุประสงค์แบบไม่ผิดอะไรกับการเป็น “แผนสอง” หากเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ ล้มเหลว และพร้อมๆ กันนั้น ก็เป็นการลดการพึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่มิให้มากจนเกินไปอย่างเสร็จสรรพ