“กฤษฏา” ลั่นปี 63 ยกเลิกใช้ 3 สารพิษ หักดิบ หั่นนำเข้าสารพิษ 3 ชนิด เหลือ50% จากเดิมตัวละ 4-6 หมื่นตัน ชี้ปี 62 พาราควอต 2 หมื่นตัน ไกลโฟเซต 4.8 หมื่นตัน คลอร์ไฟริฟอส 1,150 ตัน สั่งปลัดเกษตรฯตรวจสต็อกเอกชนภายใน15 วัน ลุยคุมเข้มทั่วประเทศกำหนดใช้เฉพาะพืชไร่ ไม้ผล จำกัดเกษตรกรซื้อใช้ได้1.5 ล้านคน -คนรับจ้างพ่นสาร5หมื่นคน เล็งเชื่อมระบบNSW ศุลกากร ผู้นำเข้า เกษตรกร ร้านจำหน่าย รู้เส้นทางเคลื่อนไหวสารเคมี เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ออกกฏกระทรวง5ฉบับ จำกัดการใช้สารเคมีวัตถุอันตรายใช้ในการเกษตรกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืช 3ชนิด คือพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส ได้ประกาศราชกิจจาฯแล้วจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด180วันหลังจากนี้ โดยจะมีการจำกัดการนำเข้าสารเคมีลดลงประมาณครึ่งของที่เคยนำเข้าตัวละอยู่ระหว่าง 2-3 ตันต่อปีจากเดิมอนุญาตให้นำเข้า 4-6 ตันต่อปี ซึ่งในปี 62 จำกัดการนำเข้าตามมาตรการโดยจำกัดการนำเข้าตามชนิดพืช เช่น พาราควอต 2 หมื่นตัน ไกลโฟเซต 4.8 หมื่นตัน คลอร์ไฟริฟอส 1,150 ตัน พร้อมกันนี้ได้สั่งการหน่วยงานในเรื่องการสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วน ให้นำไปใช้อย่างถูกวิธี จึงจะเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ ผู้ผ่านอบรมการใช้จึงนำใบอนุญาตไปซื้อขาย “ได้สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดของกระทรวงและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นเลขานุการเร่งสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิดทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายว่า มีอยู่เท่าไร ต่อไปจะต้องแจ้งปริมาณสต็อกสินค้าทุก 15 วัน โดยระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไปในพื้นที่”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งดำเนินการมาตรการทำเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ อย่างเผยแพร่หลายเพื่อนำไปให้ถึงเกษตรกรในพื้นที่เกษตร149ล้านไร่ทั่วประเทศ รวมทั้งวิจัยหาสารจำกัดศัตรูพืช หาเทคโนโลยีใหม่ๆมากำจัดวัชพืช และใช้ทางเลือกโดยวิถีธรรมชาติ เช่นใช้หนอนอีกชนิดมากำจัดแมลง ตนตั้งเป้าภายในปี63 จะเลิกใช้สารเคมี ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะไปออกคำสั่งยกเลิกทันทียังไม่ได้ต้องขึ้นกับมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วย ในส่วนกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด 6 มาตรการ โดยวันที่ 24 -25 เม.ย.จะอบรมวิทยากร2,240คน ไปอบรมเกษตรกร 1,500,000 คน ในช่วงเดือนมิ.ย. – ก.ย. และผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบตามพรบ.วัตถุอันตราย ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 79,988 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ จะอบรมผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศในช่วงระว่างเดือนมิ.ย. ทั้งนี้ ได้กำหนดชนิดพืช อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด และไม้ผล ที่ใช้สารพาราควอต และไกลโฟเซต ส่วนสารคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล รวมทั้งขณะนี้ให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการหรือสารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งคณะอำนวยการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก 3 เดือน หากทำได้ตามที่กำหนดไว้ทั่วประเทศ จะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันที มาตรการด้านวิจัย ซึ่งระบุไว้ว่ามี 2 โครงการ ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี หรือวิธีการที่นำมาใช้ทดแทน คือ โครงการจัดการวัชพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปริมาณการใช้สารไกลโฟเซต และพาราควอต ในพืชเศรษฐกิจ และโครงการจัดการแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสานเพื่อลดปริมาณการใช้สารกำจัดแมลงคลอร์ไพริฟอสในพืชเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ได้เร่งรัดวางระบบครบวงจร ตามมาตรการทั้ง6 มาตรการเสร็จสิ้นภายใน2ปีนี้ ทั้งมาตรการศึกษาผลกระทบ มีระบุไว้ 2 โครงการเช่นกัน คือ โครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารพิษตกค้างพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในพืช และโครงการสำรวจสารพิษตกค้างพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในพื้นที่ปลูกพืชและสิ่งแวดล้อมจากการใช้ในแหล่งเกษตรกรรม โดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ส่วนมาตรการสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนทั่วไป เร่งการดำเนินการประชาสัมพันธ์ โดยการใช้ช่องทางการสื่อสาร และสื่อต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีทั้ง 3 ชนิด และใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ทราบถึงมาตรการและข้อห้ามต่างๆ ตามมาตรการจำกัดการใช้ที่กำหนดขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขณะที่มาตรการสร้างระบบฐานข้อมูล เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้อง กับระบบ National Single Window หรือ NSW ของกรมศุลกากร และทะเบียนเกษตรกร ของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร อย่างชัดเจน เป็นปัจจุบัน โดยจะสร้างระบบจัดการฐานข้อมูล เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร และสร้างแอพลิเคชั่นที่ทำงานร่วมกับฐานข้อมูล ในการบันทึกข้อมูลรายงานการนำเข้า ผลิต และจำหน่าย เพื่อทราบเส้นทาง และความเคลื่อนไหวของวัตถุอันตรายทั้งระบบ รวมทั้งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้ด้วย