รมว.เกษตรฯ เครื่องร้อน นำทัพเกษตรแผนใหม่ “เกษตรอัจฉริยะ” เปิดแปลงนำร่องใน 6 พืชหลัก ระดมเครื่องมือไฮเทคมาเพียบ ยุคเกษตร4.0ทำน้อยได้มาก เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62 นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงได้จัดทำแผนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการทำเกษตรกรรม ร่วมมือกับหน่วยงานสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงภาคเอกชน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตรจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นซึ่งนำงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วย ประสานความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ ล่าสุดได้จัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ของพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรดในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละ 10 -20 ไร่ต่อชนิดพืช รวมถึงการทำโรงเรือนมะเขือเทศโดยใช้ IoT และ Sensors ทางการเกษตร ตรวจวัดสภาพดิน น้ำ การเจริญเติบโตของพืช เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกรอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้ การสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่างๆ ตลอดแลกเปลี่ยนประสบการในการทำการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยระหว่างผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย นวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้แก่ การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร อากาศยานไร้คนขับเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system รวมถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้แก่ แทรกเตอร์ต้นกำลังซึ่งมีระบบควบคุมพวงมาลัยอัตโนมัติ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช เครื่องเก็บเกี่ยวและเครื่องนวดที่มีระบบบันทึกข้อมูลเพื่อจัดทำแผนการผลิต เป็นตัน “มีเป้าหมายนำเกษตรอัจฉริยะมาทำในโครงการแปลงใหญ่ โดยเอกชนร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี มี Smart Farmers และ Young Smart Farmers ดูแลแปลง ซึ่งจะสามารถลดการใช้แรงงานคน ใช้ปุ๋ยตามความเหมาะสมของค่าดิน ตลอดจนเก็บผลผลิตได้สะดวกรวดเร็วซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งเมื่อผลผลิตต่อไร่มากขึ้นและคุณภาพผลผลิตดีขึ้นจะช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตร เป็นลักษณะการทำเกษตรแบบ ทำน้อย ได้มาก” นายกฤษฎา กล่าว