ภัยแล้งลามหนักเขื่อน 211 แห่ง น้ำลดต่ำกว่า 30% ประสานกรมฝนหลวงฯ ช่วยเพิ่มน้ำ เร่งช่วงชิงสภาพอากาศขึ้นบินทำฝนหลวงภาคเหนือ-กลาง-ตะวันออก เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ ขณะนี้มีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 20 แห่ง และขนาดกลาง จำนวน 191 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งแล้ว โดยกรมฝนหลวงได้รับการประสานขอความร่วมมือในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเร่งภารกิจเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 4 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี และนครราชสีมา ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.นครราชสีมา รวมถึงสามารถยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงจากพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกในพื้นที่ อ.ฮอด อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงในวันนี้ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 64% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.6 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.นายายอาม จ.จันทบุรีและ อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 57% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 37% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.6 หน่วยฯ จ.ลพบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการ ภารกิจที่ 1 โจมตี บริเวณ อ.มวกเหล็ก อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และภารกิจที่ 2 โจมตี บริเวณ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.วังม่วง อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ห้วยคต อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี และพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำทับเสลา ด้านหน่วยฯ จ.กาญจนบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งต่อไป พื้นที่ภาคเหนือ ในหลายจังหวัดเริ่มมีทิศทางที่ดีมาก โดยคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก ประกอบกับจุดความร้อนบริเวณพื้นที่ภาคเหนือลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีเพียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่สภาพอากาศยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และ จ.เชียงราย อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง สำหรับผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 65% (ร้องกวาง) 79% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 69% (ร้องกวาง) 54% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.4 (ร้องกวาง) -4.5 (อมก๋อย) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณพื้นที่ อ.เชียงดาว - อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ต่อเนื่องภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณพื้นที่ อ.เมืองลำปาง - อ.เมืองปาน จ.ลำปาง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง รวมถึงพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย และ จ.ลำปาง ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ได้วางแผนปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) บริเวณทิศตะวันออก อ.ศรีสำโรง - ทิศตะวันออก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.อุตรดิตถ์ และ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บพื้นที่เป้าหมาย จ.เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศ จ.ขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 61% (บ้านผือ) 53% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 46% (บ้านผือ) 45% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.7 (บ้านผือ) -2.1 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา และหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 52% (พนม) 50% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 59% (พนม) 43% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.2 (พนม) -3.7 (ปะทิว) หน่วยฯ จ.สงขลา หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี และหน่วยฯ หัวหิน ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป โดยเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย