นายชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้รับมอบหมายจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อให้ความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยเปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัย ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านประกันภัยแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายครอบคลุมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยนาท เพชรบูรณ์ น่าน เชียงราย ขอนแก่น อุบลราชธานี นครพนม และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ หรือ เมืองปากน้ำโพ เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีในปีที่ผ่านมา โดยติดอันดับ 1 ใน 10 จังหวัด ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปีสูงที่สุดของประเทศ นอกจากนี้จังหวัดนครสวรรค์ ยังติดอันดับ 1 ใน 10 จังหวัด ที่มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงที่สุดของประเทศอีกด้วย ดังนั้น (ในวันที่ 23 เมษายน 2562) ตนและคณะวิทยากร ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ลงพื้นที่ในอำเภอท่าตะโก เพื่อพบปะเกษตรกร จำนวน 250 ราย ณ วัดปากง่าม ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรได้มีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไม่ตรงกับข้อมูลการจัดทำประกันภัย เนื่องจาก ธ.ก.ส. ใช้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรไม่เป็นปัจจุบัน (ใช้ข้อมูลการขึ้นทะเบียนของปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำประกันภัยปีปัจจุบัน) ทำให้ข้อมูลไม่ตรงกัน กรณีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีระยะเวลาและขั้นตอนดำเนินงานทำให้ไม่ทันต่อรอบการจัดทำประกันภัย ซึ่งเป็นสาเหตุของข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน กรณีโควต้าจำนวนพื้นที่ในการทำประกันภัยมีจำนวนจำกัด โดยส่วนใหญ่ผู้มีสิทธิ์จัดทำก่อนเป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. กรณีเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีการประกาศภัยพิบัติ ทั้งนี้จากการประสานเกษตรอำเภอในพื้นที่ พบว่าปัญหาเกิดจาก ในขณะที่คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่เพื่อประกาศภัยพิบัติ ต้นข้าวยังสามารถยืนต้นได้อยู่ ทำให้ไม่สามารถ ประกาศภัยพิบัติได้ แต่ภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ ดำเนินการแล้ว ปรากฏว่าต้นข้าวเกิดความเสียหายในภายหลัง นอกจากนี้การเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ท่าตะโกมีลักษณะเป็นหย่อมๆ ไม่ได้เป็นพื้นที่เดียวกัน จึงไม่มีการประกาศภัยพิบัติ กรณีความเสียหายของข้าวนาปี ที่ผ่านมาเกิดจากภัยน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง เป็นต้น ทั้งนี้คณะวิทยากรได้ตอบข้อสงสัยต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจของเกษตรกร รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป สำหรับ ในวันนี้ (24 เมษายน 2562) เป็นการเปิด“โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2562” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ณ โรงแรมแกรนด์ฮิลล์ รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยมีนายปรีชา เดชาพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและกล่าวขอบคุณ สำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดนครสวรรค์ เป็นสถานที่จัดการอบรมความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ในการนำระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ นายชนะพล กล่าวด้วยว่า การประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 มีความโดดเด่นและแตกต่างจากปีก่อนๆ 3 ประการคือ ประการแรก รูปแบบการทำประกันภัยปีนี้รัฐบาลมีหลักการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยโดยสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น ประการที่สอง มีการเพิ่มความคุ้มครอง“ภัยช้างป่า”เข้ามาอีก 1 ภัย ทำให้สามารถคุ้มครองความเสี่ยงภัยกับเกษตรกรได้ถึง 8 ประเภท จากเดิมที่ครอบคลุมภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด ประการที่สาม มีการกำหนดอัตราค่าเบี้ยประกันภัย ข้าวนาปี สำหรับความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธ.ก.ส. อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือ โรคระบาด 630 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครอง (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่เสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ โดยจะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 240 บาท และ 120 บาท สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1+ ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35.4 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 23.6 บาทต่อไร่ โดยมีความคุ้มครองพื้นฐาน (ส่วนที่ 1) อยู่ที่ 1,500 บาท ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 750 บาทต่อไร่ เกษตรกรที่จ่ายค่าเบี้ยประกันภัย สำหรับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม (ส่วนที่ 2) ตามพื้นที่ความเสี่ยงภัยสูง ปานกลางและต่ำ โดยจะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 240 บาท และ 120 บาท สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัย (ส่วนที่ 1 + ส่วนที่ 2) ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,740 บาทต่อไร่ และจะได้รับความคุ้มครองจากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด 870 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี และประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถทำประกันภัยได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นภาคใต้ถึง 15 ธันวาคม 2562)