“กฤษฏา” งัดภาพถ่ายดาวเทียม จิสด้า ชี้ตัวการเผาป่า-จุดความร้อนภาคเหนือ อยู่ในพื้นที่ป่าเขา ยันโครงการข้าวโพดหลังนา-งดทำนาปรังรอบสอง ไม่ใช่ต้นเหตุ ระบุชาวนาต้องขึ้นทะเบียนตรวจสอบความเหมาะสมพื้นที่เพาะปลูกก่อนใน 37 จังหวัดโชว์เป็นต้นแบบปฏิรูปเกษตรเห็นผลจริง ยกระดับเกษตรกรกินดีอยู่ดีมีรายได้แน่นอน เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชี้แจงกรณีมีกระแสวิจารณ์ โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนา เป็นสาเหตุของการที่ทำให้เกิดจุดความร้อนภาคเหนือในปีนี้นั้น ว่าโครงการนี้ ต้องการสนับสนุนให้ชาวนางดทำนาปรังรองสอง ปรับเปลี่ยนปลูกข้าวโพดในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 61 เพื่อทดแทนการนำเข้าข้าวโพดเพราะผลผลิตในประเทศขาดแคลนยังไม่เพียงพอต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และสิ่งสำคัญลดพื้นที่ปลูกข้าวลงได้ ไม่ล้นตลาด เหมือนที่เคยเกิดปัญหามายาวนานอีกด้วย ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวโพดจึงอยู่ในพื้นที่ทำนาข้าวเดิมซึ่งเป็นที่ราบ ไม่ใช่พื้นที่ป่าเขาแต่อย่างใด ทั้งนี้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนการปลูกข้าวโพดก่อนเพราะรัฐมีโครงการช่วยทำประกันภัยพืชผลให้ไร่ละ 65 บาท จึงทำให้สามารถตรวจสอบบริเวณและจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้ชัดเจนซึ่งสามารถยืนยันการปลูกได้จำนวน 724,931ไร่ เกษตรกร 87,563 ราย ใน 37 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมทั้งโครงการเสริมพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดครั้งนี้ รัฐไม่ได้อุดหนุนให้ชาวนาไร่ละ 2,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือนเหมือนปีก่อนๆ แต่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นรัฐประสานงานกับสมาคมผู้ค้าอาหารสัตว์ให้เข้าไปรับซื้อข้าวโพดผ่านสหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นสถาบันเกษตรแทนการสนับสนุนเงินงบประมาณไร่ละ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังปรากฎข้อเท็จจริงจากรายงานของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเครื่องมือวัดจุดความร้อนดำเนินการตรวจสอบพื้นที่กำหนดจุดความร้อน (Hot spot) แล้วไม่ปรากฎว่ามีจุดความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่โครงการเสริมพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนาแต่อย่างใด “จึงเห็นได้ว่าโครงการสานพลังประชารัฐฯ จึงไม่ใช่สาเหตุของการเกิดจุดความร้อน (Hot spot) แต่อย่างใด ในทางตรงข้ามในปีนี้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะมีรายได้จากการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืนชัดเจนเนื่องจากไม่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาด นับว่าเป็นการเริ่มปฎิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางการตลาดนำการผลิตที่เกษตรกรลงมือทำการเกษตรกรรมแล้วมั่นใจว่าจะมีตลาดมารองรับผลผลิต ทำให้ไม่ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลไปช่วยอุดหนุนหรือชดเชยต้นทุนการผลิตในรูปโครงการรับจำนำหรือประกันราคาผลผลิตที่ต้องใช้งบประมาณรัฐจำนวนมากเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแต่อย่างใด”นายกฤษฏา กล่าว