“กฤษฏา” สั่งกรมชลฯ เร่งเปิดเส้นน้ำดิบส่งการประปาส่วนภูมิภาคผลิตประปา ยันแล้งนี้ พื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง 5 จังหวัด มีน้ำกินใช้ วอนใช้น้ำคุ้มค่า-ประหยัดน้ำลดความเสี่ยงในอนาคต เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้วางมาตรการแก้ไขปัญหาและรับมือความเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2561/62 ทุกกิจกรรม เช่น ด้านการอุปโภค-บริโภค ด้านการรักษาระบบนิเวศ ด้านการเกษตร และด้านการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ซึ่งนายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งประสานกับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาลดพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังเรื่องการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีปริมาณน้ำดิบเพียงพอสำหรับใช้ผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ในส่วนของสำนักงานชลประทานที่ 6 ที่มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดอีสานกลาง ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และชัยภูมิ ได้มีการวางมาตรการบริหารจัดการน้ำเชิงรุก ร่วมกับ ศูนย์ป้องการและบรรเทาสาธารณะภัยเขต 6 สำนักงานป้องการและบรรเทาสาธารณะภัย และการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 22 สาขา พบว่าปริมาณน้ำดิบที่ใช้สำหรับการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ มีเพียงพอในการผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ซึ่งมีเพียง 1 สาขาเท่านั้น ที่มีความเสี่ยงว่าปริมาณน้ำดิบจะมีไม่เพียงพอ คือ การประปาส่วนภูมิภาค สาขาสุวรรณภูมิ หน่วยบริการเกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด กรมชลประทาน ได้สนับสนุนรถแบ็คโฮสำหรับขุดร่องชักน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ทำการสูบน้ำมาเติมลงบริเวณด้านหน้าโรงสูบน้ำดิบหน่วยบริการเกษตรวิสัย โดยเริ่มดำเนินการสูบน้ำมาตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.61-20 เม.ย.62 รวมปริมาณน้ำกว่า 239,200 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำดิบบริเวณด้านหน้าฝายเล้าขาว มีอยู่ประมาณ 100,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับการใช้ผลิตน้ำประปาตลอดจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในระยะยาว พร้อมกันนี้ ได้ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในอนาคต