อธิบดีฝนหลวงฯ วางแผนทำฝนเติมน้ำเขื่อน 203 แห่ง น้ำน้อยวิกฤติมีน้ำต่ำกว่า 30% ระทมภัยแล้งหนัก 5 จังหวัดระบุหน่วยฝนหลวง 8 ศูนย์ ทำฝนตก 23 จังหวัดลดฝุ่นพิษ ยับยั้งพายุลูกเห็บ ช่วยพื้นที่เกษตร เมื่อวันที่ 23 เม.ย.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผย เมื่อวานนี้ (22 เม.ย. 2562) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.ลำพูน ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุดรธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา ระยอง ชลบุรี ราชบุรี เพชรบุรี บริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.กาญจนบุรี นครราชสีมา มหาสารคาม พื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนลำปาว อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำกระเสียว และช่วยบรรเทาปัญหา ฝุ่นละอองทำให้มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.ลำพูน รวมถึงช่วยยับยั้งและบรรเทาความรุนแรงพายุลูกเห็บทำให้มีฝนตกในบางส่วนของ จ.เชียงใหม่ ชัยภูมิ ขอนแก่น และสกลนคร ด้านพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ พื้นที่ภัยแล้งจำนวน 5 จังหวัด (13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน) ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี รวมถึงสถานการณ์น้ำจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาต(สทนช.) วันนี้ (23 เม.ย.2562) พบว่ามีเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ จำนวน 14 แห่ง เช่น เขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 187 แห่ง เป็น 189 แห่ง ซึ่งกรมฝนหลวงฯจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดทุกวันและจะขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 23 เมษายน 2562 ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงที่ จ.สระบุรี ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพปานกลาง ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 49% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 41% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความชื้นสัมพัทธ์เข้าเกณฑ์ปฏิบัติการฝนหลวง จะปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทันที พื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 32% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 56% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 2.3 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.ลพบุรีและกาญจนบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่มีปริมาณน้ำ ใช้การต่ำกว่า 30% พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดดีขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-ดี เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังมี่บริเวณ จ.เชียงราย และ จ.แม่ฮ่องสอน ยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เนื่องจากยังพบจุดความร้อนกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนืออยู่รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ด้านผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 58% (ร้องกวาง) 78% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 42% (ร้องกวาง) 53% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.2 (ร้องกวาง) -1.9 (อมก๋อย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นบินปฏิบัติการขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณ อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ พื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.พิษณุโลก วางแผนขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จ.ตาก พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศหลายจังหวัดอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ จ.เลย อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 40% (บ้านผือ) 56% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 50% (บ้านผือ) 47% (พิมาย)และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ 0.1 (บ้านผือ) 0.1 (พิมาย) หน่วยปฏิบัติการฯ จ.นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสม จะปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งทันที และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 49% (พนม) 46% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 45% (พนม) 35% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -2.3 (พนม) -2.5 (ปะทิว) หน่วยปฏิบัติการฯ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สงขลา และ จ.สุราษฎ์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวันเพิ่มเติม หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของ จ.ราชบุรี และ จ.เพชรบุรี รวมถึงบริเวณพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของ จ.ภูเก็ต “อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ไฟป่าหมอกควัน พายุลูกเห็บ และภัยพิบัติทางธรรมชาติรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทันที เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงในทุกภูมิภาคของประเทศ”อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว