นักวิทย์อังกฤษใช้ดาวเทียมเซนติเนิล 2 ดวงช่วยสำรวจแหล่งขยะ เพื่อตรวจปริมาณ-ลดแพขยะในท้องทะเล ทั้งเพิ่มวิธียิงแสงสะท้อนวัตถุ แต่ยังต้องพัฒนาเพิ่มความละเอียดอีก ท่ามกลางปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะในท้องทะเลที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสัตว์ทะเล ดังภาพที่เราได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ กับซากสัตว์ทะเลที่ภายในท้องอัดแน่นไปด้วยขยะพลาสติกมากมาย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์เฟซระบุ “นักวิทยาศาสตร์ในประเทศอังกฤษ ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการทำ #แผนที่ขยะในมหาสมุทร ด้วย#ดาวเทียมเซนติเนิล (Sentinel) ที่อยู่ในความดูแลขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า กระบวนการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาปริมาณขยะขนาดใหญ่ในมหาสมุทรและลดแพขยะที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน ปริมาณขยะล้นโลก เป็นปัญหาหนึ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและหาวิธีจัดการ เพราะนับวันขยะยิ่งมีปริมาณมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง นักวิทยาศาสตร์จึงอาศัยดาวเทียมเซนติเนิล จำนวน 2 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทางภูมิศาสตร์ช่วยสำรวจแหล่งขยะในมหาสมุทรบริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล รวมถึงบริเวณกระแสน้ำวนซึ่งเป็นแหล่งรวมของแพขยะขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากดาวเทียมเซนติเนิลถ่ายภาพความละเอียดสูงได้ในพื้นที่ขนาด 10 เมตร เท่านั้น ไม่ทันต่อการเคลื่อนที่ของแพขยะที่ถูกกระแสน้ำพัดพาอยู่ตลอดเวลา และไม่เหมาะต่อการทำแผนที่ขยะในมหาสมุทรขนาดใหญ่  นักวิทยาศาสตร์จึงใช้วิธียิงแสงในหลายช่วงความยาวคลื่น เพื่อจำแนกวัตถุต่างๆ เนื่องจากลักษณะของแสงสะท้อนจากวัตถุแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป เช่น น้ำทะเลจะ “ดูดกลืน” แสงในช่วงคลื่นอินฟาเรดย่านใกล้ได้ดี ต่างกับพืชและวัตถุอื่นๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำทะเลที่จะ “สะท้อน” แสงในช่วงคลื่นอินฟาเรดย่านใกล้ อย่างไรก็ดี การพัฒนาเทคนิคดังกล่าวให้สมบูรณ์ยังต้องใช้ความละเอียดและเวลามากขึ้น ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์วางแผนว่า จะนำอัลกอริธึม Machine learning มาใช้ เพื่อช่วยให้อุปกรณ์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียบเรียง : นายเจษฎา กีรติภารัตน์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.bbc.com/news/science-environment-47910600"