"รมช.ลักษณ์" เผยในวิกฤติมีโอกาส ยอดสุกรไทยส่งออกพุ่งพรวด ชี้ไทยมีมาตรฐานรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกา ดันราคาหน้าฟาร์ม จาก60บาท ขยับขึ้นไม่ต่ำกว่า80บาท หลังหลายประเทศ ฟาร์มสุกรโดนโรคอหิวาต์ระบาดหนัก เมื่อวันที่ 22 เม.ย.62 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังมอบนโยบายมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever) ของประเทศไทยว่า จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแพร่ระบาดเป็นวงกว้างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันระบาดใน 18 ประเทศ สำหรับทวีปเอเชียพบระบาดครั้งแรกที่จีน ซึ่งสถานการณ์ระบาดของโรคแต่ละประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยเสี่ยงที่เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น การเดินทางท่องเที่ยว ค้าขาย ขนส่งสินค้า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่มีข้อจำกัดด้านชายแดนที่ระยะทางยาว รวมถึงความต้องการสุกรและผลิตภัณฑ์สูงขึ้น ส่งผลให้ลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์สุกรโดยนักท่องเที่ยวตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์เข้มงวดจับกุมการลักลอบเคลื่อนย้ายสุกร ซากสุกร และผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวนำมาบริโภคต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่จีน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2561 ถึง 29 มีนาคม 2562 ตรวจยึดการลักลอบเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์จากสุกร 344 ครั้ง และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปนเปื้อนสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร 59 ตัวอย่าง กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แบ่งดำเนินการเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.จัดให้มีคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคสหกรณ์ผู้เลี้ยงสัตว์ และภาคเอกชน และ 2.แผนใช้จ่ายงบประมาณปี 2562-2564 ดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค วงเงิน 148,542,900 บาท  นอกจากนี้ การดำเนินการตามแผนดังกล่าว ยังแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน จะดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค และระยะยาวจะยกระดับมาตรการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล โดยจัดสร้างโรงทำลายซากสัตว์ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความคงทนในสภาพแวดล้อมสูงหากทำลายโดยการฝังต้องใช้พื้นที่มาก และการทำลายเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีโอกาสที่เชื้อจะตกค้างและแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อม หรือหากทำลายโดยการเผาก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องกำจัดซากติดเชื้ออย่างเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว หากกรณีไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรยังใช้กำจัดซากสัตว์ติดเชื้อของโรคระบาดอื่นได้ด้วย ถือเป็นมาตรการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพยั่งยืน “ยืนยันว่ายังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย แต่ถึงแม้โรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่คน แต่โรคนี้มีความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ กระทรวงเกษตรฯ จึงประกาศเขตเฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดชายแดนทั้งหมด 16 จังหวัดทั่วประเทศ และดำเนินแผนป้องกันเพื่อเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงเกษตรฯเชื่อมั่นว่าจะสกัดกั้นโรคนี้ไม่ให้เข้ามาสู่ประเทศไทยได้ หากประเทศไทยมีระบบป้องกันโรคระบบทำลายซากสุกรที่เป็นโรค ซากสัตว์พาหะที่ดีตามมาตรฐานสากลจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคในประเทศได้ อีกทั้งเป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากความต้องการสุกรของจีน เวียดนาม และกัมพูชาเพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนเกิดโรคราคาสุกรมีชีวิตของไทยกิโลกรัมละ 60 บาท หลังเกิดโรคทำให้ราคาสุกรในประเทศมีราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 44,000 ล้านบาทต่อปี”นายลักษณ์ กล่าว