“สมคิด”จี้อุตฯเร่งหามาตรการจูงใจกระตุ้นเอกชนลงทุนระหว่างรอยต่อรอรัฐบาลใหม่ รับห่วงเศรษฐกิจสัญญาณชะลอตัว จี้ดูแลเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนระบบสู่ดิจิทัลวง ศก.สัญญาณชะลอตัว เร่งออกมาตรการจูงใจเอกชนใช้ AI ด้าน ก.อุตฯรับลูกชง ครม.อัดฉีดเงินให้ไมโครเอสเอ็มอีเพิ่มต่อยอดธุรกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบายตามที่ได้สั่งการไว้ พร้อมระบุว่า ค่อนข้างเป็นห่วงในช่วงที่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทุกครั้งเมื่อมีการเลือกตั้งเงินจะสะพัดมากแต่มาครั้งนี้แปลกเงินไม่สะพัด โดย 2 เดือนมานี้พบว่าเศรษฐกิจนิ่งเพื่อรอดูความชัดเจน การจัดตั้งรัฐบาลถ้ายาวถึงครึ่งปีอะไรจะเกิดขึ้น โดยอะไรที่ทำได้ก็เดินหน้าทำไปเลยไม่ต้องรอ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในช่วงการเปลี่ยนผ่าน พบว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัว และเข้าสู่สภาวะที่ทุกอย่างหยุดนิ่งด้วยกันหมด ทำให้ต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่า สมคิดจะกลับมาไหมแล้วอยู่นิ่ง อันนี้ผมขออย่าหยุดนะงานทุกอย่างต้องเร่งเดินหน้าไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจลำบาก นอกจากนี้ต้องการให้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมและผู้ประกอบการใหม่ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วยการไปคิดมาตรการจูงใจให้เอกชนไทยปรับเปลี่ยนการผลิตแบบเดิมที่ใช้เครื่องจักรในการผลิต ให้พัฒนาการใช้เครื่องจักรที่มี AI รวมทั้งใช้ Big DATA พร้อมให้จัดทำเป็นมาตรการแบบครบวงจร เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเร่งจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมนวัตกรรมให้ได้ภายในเดือน พ.ค.62 และการวางระบบต่างๆให้แล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ทั้งนี้หากสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะทำให้ไทยเกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆเข้ามาลงทุน ซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมในการผลิตของธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง Start Up 1 ราย ทำให้เกิดการจ้างงานอย่างน้อย 10 คน “กระทรวงอุตสาหกรรมต้องจัดทำมาตรการที่จะจูงใจหรือบังคับให้เอกชนปรับเปลี่ยนการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับภาคการผลิตเพื่อเปลี่ยนผ่านภาคอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมต้องไประดมสมองกับเอกชนหากรัฐบาลจะต้องสนับสนุนเพิ่มเติมอย่างไรก็ให้ระบุมาและให้ประกาศเป็นมาตรการที่ชัดเจน” ขณะเดียวกันให้เตรียมพร้อม บริษัทอินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จะทำหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งควรจะสรุปที่ตั้งและให้มีคณะผู้บริหารที่ชัดเจนภายในพ.ค.นี้ เพื่อพร้อมขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2563 สำหรับบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ต้องเตรียมพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของทุกภาคอุตสาหกรรมที่ต้องทันกับยุค 4.0 และทันกับนิคมฯของเอกชนที่ก้าวหน้าไปมาก ขณะเดียวกันของให้เร่งพิจารณาเจรจากับกลุ่มผู้ประมูลท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้จบโดยเร็วเป็นโครงการแรกๆ และโครงการที่เหลือเช่น รถไฟความเร็วสูง และแหลมฉบังเฟส 3 ควรจะแล้วเสร็จภายในพ.ค.62 นอกจากนี้เรื่องหลักที่ต้องการให้เร่งจัดการคือ ปัญหาฝุ่นและควันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านฝุ่นควันโดยเฉพาะกับจังหวัดในภาคเหนืออาทิ เชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากเป็นจังหวัดหลักในการท่องเที่ยว หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จะกระทบกับการท่องเที่ยว จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป และส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวเสียหาย นายสมคิดกล่าวถึงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมผ่าน ITC แบบครบวงจร จากที่เคยให้แนวทางการทำงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรไว้ แต่ยังไม่มีใครรับเป็นเจ้าภาพ เพราะจะว่าเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ก็ไม่ใช่ จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมเลยก็ไม่ใช่ ทำให้ยังไม่มีใครมีหน้าที่ดูแลอย่างแท้จริง จึงอยากฝากให้กระทรวงอุตสาหกรรมช่วยรับเรื่องนี้ไว้ในการดูแล ต้องช่วยกันผลักดันให้เกษตรกรหันมาใช้ระบบทำการเกษตรแบบ 4.0 ให้มากขึ้น ให้ใช้ปัญญาประดิษฐ์(AI) ในการผลิตเพื่อสู่ไทยแลนด์ 4.0 ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรมกล่าวว่า นายสมคิด ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดูแลผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)โดยเฉพาะให้ถึงรายเล็กมาก(ไมโครเอสเอ็มอี)มากขึ้นดังนั้นกระทรวงฯจะโยกเงินจากกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทที่แยกมา 8,000ล้านบาทในการช่วยเหลือไมโครเอสเอ็มอีซึ่งได้ปล่อยกู้หมดแล้วจึงจะโยกจาก 12,000 ล้านบาทซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพที่เหลือวงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทโยกมาให้ไมโครเอสเอ็มอี ขณะเดียวกันวงเงิน 12,000 ล้านบาทที่ปล่อยกู้ไปบางส่วนมีการทยอยมาคืนเงินกู้เข้ามา 970 ล้านบาทจึงจะเสนอครม.เร็วๆนี้เพื่อขอนำวงเงินดังกล่าวมาสนับสนุนไมโครเอสเอ็มอีได้อีกทางหนึ่ง “นายสมคิด ได้มอบหมายให้เรามาดูเรื่องเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรก็จะมาดูในภาพใหญ่ซึ่งกิจกรรมเกษตรแปรรูปเมืองไว้ที่ภาคตะวันออกคือที่ระยองซึ่เป็นโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก(EFC)และจากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ” นอกจากนี้เร็วๆ นี้จะมีการนำเสนอ ครม.เห็นชอบมาตรการทางกฏหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้โดยจะมีการออกระเบียบให้โรงงานรับอ้อยไฟไหม้ปี 2562/63 ที่ให้รับอ้อยไฟไหม้เขาหีบไม่เกิน 30% ต่อวันปี 2563/64 ไม่เกิน20%ต่อวันและปี2564/65 ไม่มีอ้อยไฟไหม้ และเพื่อให้มาตรการนี้สำเร็จจะมีมาตรการสนับสนุนการจัดหารถตัดอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000 คันในปี2565จากปัจจุบันมีรถตัดอ้อย 1,802 คันโดยออกเป็นมาตรการส่งเสริมสินเชื่อให้เกษตรกรปีละ 2,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปีดอกเบี้ย 1% ต่อปีโดยที่เหลือประมาณ 3-4% รัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.) พร้อมกันนี้จะส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถตัดอ้อยในไทย เป็นต้น