ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน มี.ค.อยู่ที่ 48.4 ปรับตัวลงจากเดือนก่อน กังวลการเมืองไม่ชัดเจนรอรัฐบาล ด้านพาณิชย์เผยส่งออกเดือนมี.ค.62 กลับมาติดลบร้อยละ 4.88 จากความกังวลสงครามการค้า-กนง.ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 เหลือ 3.8% จากเดิม 4.0%-ราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่ยังเชื่อส่งออกไทยเติบโตร้อยละ 3-6 นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมี.ค.62 อยู่ที่ระดับ 48.4 ปรับลดลงจากเดือน ก.พ.62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 48.5 แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นเริ่มมีสัญญาณปรับลดลง โดยปัจจัยบวกได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) คงดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25-2.50% ส่งออกไทยเดือนก.พ.62 ขยายตัวร้อยละ 5.91 มีมูลค่า 21,553.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯเริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังมีการยกเลิกค่าธรรมเนียม VISA on Arrival และค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 31.729 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก.พ.62 ขณะที่ปัจจัยลบคือ ความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลและความไม่แน่นอนทางการเมือง SET Index เดือนมี.ค.62 ปรับตัวลดลง 14.83 จุด เทียบกับเดือนก.พ.62 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 เหลือร้อยละ 3.8 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 4.0 โดยหอการค้าไทยแนะภาครัฐควรหามาตรการเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับยุค Disruptive Technology และภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้ พร้อมทั้งควรกระตุ้นการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆทุกพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ และสร้างเสถียรภาพและความชัดเจนทางการเมืองของประเทศไทย ด้าน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.62 กลับมาติดลบอีกครั้ง หลังจากเดือนก.พ.62 ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 5.19 โดยมีมูลค่าส่งออก 21,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 4.88 จากความกังวลปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน แม้จะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ถือว่ายังมีความกังวลและวิตกว่าทั้ง 2 ประเทศจะจบลงอย่างไร จึงส่งผลให้การค้าทั่วโลกไม่ดีส่วนใหญ่จะติดลบ ส่งผลให้ส่งออกไตรมาสแรกของไทยปีนี้โดยรวมติดลบร้อยละ 1.64 หรือมีมูลค่า 61,987.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้หากดูตัวเลขการนำเข้าเดือนมี.ค.62 มีมูลค่า 19,436 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 7.6 และนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ 59,981.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเดือนมี.ค.62 อยู่ที่ 2,004.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากดูตัวเลขสินค้าไทยที่ส่งออกไปในหลายกลุ่มยังเติบโตได้ดีและต่อเนื่องทั้งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และส่วนประกอบ รวมถึงสินค้าภาคการเกษตรทั้งเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ยังเติบโตได้ดียกเว้นข้าวสารของไทยที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ข้าวไทยมีราคาแพงกว่าคู่แข่งอยู่บ้าง แต่ความต้องการข้าวไทยในตลาดทั่วโลกยังดีอยู่ แต่สิ่งที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาปรับปรุงคือ โครงสร้างอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการผลิตกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยค่อนข้างล้าหลังตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกช้ามากที่จะต้องเร่งปรับปรุงให้ทันตามกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์หากผลการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศทั้งสหรัฐฯและจีนจบลงด้วยดี รวมถึงแนวโน้นราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มกลับมาปรับขึ้น หลังจากกลุ่มประเทศโอเปกโดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบียประกาศจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเชื่อว่าโอกาสราคาน้ำมันตลาดโลกจะกลับมาเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากจนเกินไป เชื่อว่าแนวโน้นการส่งออกของไทยไตรมาสที่เหลือรวมถึงครึ่งปีหลังน่าจะทำให้การส่งออกของไทยจะกลับมาดีขึ้นได้ และคาดว่าการส่งออกไทยไตรมาส 2 หากไทยยังส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเกินกว่า 21,000-22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โอกาสตัวเลขจะกลับมาเป็นบวกและส่งผลให้ยอดส่งออกทั้งปีเติบโตเกินกว่าร้อยละ 3-6 ได้ และเร็วๆนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกปี 2562 ใหม่ จากเดิมคาดว่าจะโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 หากจะให้ได้ร้อยละ 8 การส่งออกแต่ละเดือนต้องเกินกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าลำบากพอสมควร