ยกให้เป็น อาวุธเด็ด ที่สามารถเผด็จศึก ทรงพลานุภาพอย่างเหลือหลาย อันจะทำให้พญามังกร นิกเนมของจีนแผ่นดินใหญ่ ได้เคลื่อนกาย ขยายอิทธิพล ได้อย่างประสิทธิผล เสียยิ่งกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลาย ที่ใช้ในการเข่นฆ่าประหัตถ์ประหารกันในการยุทธ์ การสงครามเป็นไหนๆ สำหรับ “ความริเริ่มโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ “บีอาร์ไอ (Belt and Road Initiative : BRI)” หรือที่หลายคนคุ้นหู คุ้นลิ้น กับชื่อ “วัน เบลท์ วัน โรด (One Belt One Road : OBOR) หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า “โอบอร์” กันเป็นอย่างดี โครงการที่ว่า ก็คือ การนำ “เส้นทางสายไหม (Silk Road)” ที่เคยดังโด่งเมื่อครั้งอดีตในประวัติศาสตร์ ในฐานะ “เส้นทางการค้า” ที่สืบมาแต่ครั้งโบราณ กลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ใหม่ในคริสต์ศตวรรษนี้ คือ ศตวรรษที่ 21 จนเส้นทางข้างต้น ก็มีชื่อว่า “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” อีกชื่อหนึ่ง โดยโครงการดังกล่าว มิใช่ให้เส้นทางสายไหมนี้ ฟื้นคืนชีพโลดแล่นบนนถนนการค้าธรรมดาๆ แต่ทว่า ยังถูกทางการปักกิ่ง โดยเฉพาภายใต้การของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถูกทำให้เป็นระดับ “ซูเปอร์อภิมหาโปรเจ็กต์” ให้มีพื้นที่ดำเนินการไปไกลยิ่งกว่าเมื่อครั้งอดีต เพราะขยายไปในหลายภูมิภาคมากขึ้น ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำ ไล่ไปตั้งแต่เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง หรือแม้กระทั่งแอฟริกา ที่เส้นทางสายไหมของเดิม มิได้ครอบคลุม และยังรวมไปถึงภาคพื้นทวีปยุโรป แบบเข้าถึงพื้นที่ยุโรปตอนกลาง ดินแดนตอนใน โดยมาพร้อมอิทธิพลของพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ไม่ผิดอะไรกับขยายกรงเล็บควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ในการขยายรุกคืบเข้าไปในยุโรป ปรากฏว่า หลายประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น กรีซ และยุโรป เหนือ เอสโตเนีย ฟินแลนด์ รวมกระทั่งนอร์เวย์ ในคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ก็ถูกพญามังกร ใช้โครงการนี้รุกคืบเข้าไป ถึงขนาดบางแห่ง เช่น เขตเมืองไพรีอัส แคว้นอัตติกา ใกล้กรุงเอเธนส์ ของประเทศกรีซ ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ถึงกับหว่านเม็ดเงินลงทุนสร้างท่าเรือไว้เตรียมรอท่ากันไปก่อนหน้ากันเลยทีเดียว ท่าเรือไพรีอัส ในประเทศกรีซ ที่ทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าไปช่วยก่อสร้าง หรืออย่าง “สะพานฮาโลกาแลนด์” ใกล้เมืองการ์วิก ประเทศนอร์เวย์ ทางการปักกิ่ง ก็ช่วยสร้างเพื่อเตรียมต่อเป็นเส้นทางเชื่อมสัญจร ไปเมื่อไม่นานมานี้ ใช่แต่เท่านั้น บรรดาประเทศระดับชั้นนำของภูมิภาคยุโรป ในบริเวณภาคพื้นทวีป เช่น เยอรมนี กับอิตาลี ก็สนใจที่จะมาตบเท้าเข้าร่วมในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง “อิตาลี” แดนมักกะโรนี ถิ่นอัซซูรี ถึงขนาดเมินเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดามหาอำนาจตะวันตกบางประเทศ ในการเข้าร่วม “วันเบลท์ วันโรด”ซูเปอร์อภิมหาโครงการของจีนว่า อาจทำให้อิตาลี “ติดกับดักหนี้” ที่เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทูตของจีนก็เป็นได้ โดยทางอิตาลียังได้ “สวนกลับ” ต่อเหล่าชาติที่มาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพราะอิจฉาต่ออิตาลี ถึงได้ออกมาตำหนิวิจารณ์กันข้างต้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ (ซ้าย) จับมือกับประธานาธิบดีแซร์โจ มัตตาเรลลา ผู้นำอิตาลี ระหว่างเจรจาเข้าร่วมโครงการ “วันเบลท์ วันโรด” เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” แดนอินทรีเหล็ก ภายใต้การนำของ “นายกรัฐมนตรีหญิง อังเกลา แมร์เคิล” ก็ได้นำ “อินทรีเหล็ก” โบยบินผินโผเข้าร่วมโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 กับเขาด้วยเหมือนกัน แม้ว่าจะได้ชื่อว่า เป็นมหาอำนาจ ชาติพี่เบิ้มใหญ่ของภูมิภาคยุโรป ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหญิงแมร์เคิล กล่าวเน้นย้ำ แบบตีกันมิให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ติติงได้ว่า เป็นการเข้าร่วมโครงการในลํกษณะอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์แบบซึ่งกันและกันระหว่างเบอร์ลิน กับปักกิ่ง ร่วมไม่ร่วมเปล่า ทางนางแมร์เคิล ก็ยังได้เชิญชวนบรรดาชาติยุโรปน้อยใหญ่ ให้เข้าร่วมโครงการ “วันเบลท์ วันโรด” ของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่นเดียวกับเยอรมนีอีกต่างหากด้วย นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี (ขวา) พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ล่าสุด “สวิตเซอร์แลนด์” แดน “นาฬิกา” ก็ได้เตรียมเข้าร่วมซูเปอร์อภิมหาโครงการแห่งศตวรรษข้างต้น โดยมีรายงานว่า “นายอือลี เมาเรอร์” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ของสวิตเซอร์แลนด์ ก็เตรียมที่จะจรดปากกางลงนามในความตกลง “บีอาร์ไอ” ในช่วงระหว่างที่เขาเดินทางเยือนจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เริ่มขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 เม.ย.นี้ ที่ตามกำหนดการ นายเมาเรอร์ จะย่ำแดนมังกรเป็นเวลา 8 วันด้วยกัน ซึ่งในระหว่างนี้เขาจะร่วมประชุมเรื่องวันเบลท์ วันโรด ประจำปี ครั้งที่ 2 ในกรุงปักกิ่งด้วย ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประธานาธิบดีที่พ่วงเก้าอี้รัฐมนตรีคลังของสวิตเซอร์แลนด์ จะไปลงนามในความตกลงข้างต้น ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง อันเป็นสถานที่ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ ใช้ต้อนรับอาคันตุกะ ซึ่งจะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ ร่วมลงนามครั้งประวัติศาสตร์นี้ด้วย ซึ่งนายเมาเรอร์ เปิดเผยก่อนออกเดินทางเยือนแดนมังกรว่า เชื่อมั่นว่าการเข้าร่วมในโครงการดังกล่าว จะช่วยเป็นช่องทางให้สวิตเซอร์แลนด์ ได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับจีนแผ่นดินใหญ่ในระดับเข้มเข้นเป็นหมุดหมาย ขณะเดียวกัน ทางด้านจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้รับการคาดหมายเช่นกันว่า การได้แดนนาฬิกามาร่วมในซูเปอร์อภิมหาโครงการข้างต้น จะเป็นการแผ้วถางของพญามังกรอีกเช่นกัน ในการกรุยทางรุกคืบขยายกรงเล็บ คือ อิทธิพลเข้าสู่ตอนกลางของภาคพื้นทวีปยุโรปครั้งสำคัญ ประธานาธิบดีอือลี เมาเรอร์ แห่งสวิตเซอร์แลนด์ (ซ้าย) พบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่