กรมฝนหลวงฯ ชี้ภาวะเอลนีโญ ส่งผลแห้งแล้งระยะยาว เร่งขึ้นบินเติมน้ำทำฝนตกหลายพื้นที่ หลังกรมชลฯ เร่งประสาน 145 เขื่อน น้ำน้อยต่ำกว่า30% เมื่อวันที่ 21 เม.ย.62 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ล่าสุดกรมชลประทานได้ประสานขอความร่วมมือจากกรมฝนหลวงฯ เพื่อขึ้นบินปฏิบัติการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ ซึ่งขณะนี้มีเขื่อน อ่างเก็บน้ำ จำนวน 145 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง อีกทั้งในปีนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มเกิดเป็นปรากฎการณ์เอลนีโญในลักษณะที่อาจส่งผลกระทบระยะยาว ทั้งนี้ จากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ (20 เม.ย. 2562) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 6 หน่วยฯ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา จันทบุรี หัวหิน และสุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง บรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง เพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้ ยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรของ จ.ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี นครศรีธรรมราช และลุ่มรับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำนางรอง รวมถึงสามารถบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองทำให้มีฝนตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวง วันนี้ (21 เม.ย.62) ผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเวลา 09.00 น. พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลหลายแห่งอยู่ในเกณฑ์ดี มีเพียงบางสถานีที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ด้านพื้นที่ภาคตะวันออกจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 55% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 55% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -6.5 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (ก่อเมฆ) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย อ.เขาชะเมา อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ด้านพื้นที่ภาคกลาง ผลตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ตาคลี จ.นครสวรรค์ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 36% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 38% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -4.0 หน่วยฯ จ.กาญจนบุรี และหน่วยฯ จ.ลพบุรี ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากมีความเหมาะสมจะวางแผนขึ้นปฏิบัติการในพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งต่อไป พื้นที่ภาคเหนือ คุณภาพอากาศในหลายจังหวัดยังอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากพบจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ร้องกวาง จ.แพร่ และสถานีเรดาร์อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 73% (ร้องกวาง) 55% (อมก๋อย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 46% (ร้องกวาง) 30% (อมก๋อย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.6 (ร้องกวาง) -0.4 (อมก๋อย) หน่วยฯ จ.เชียงใหม่ จึงตัดสินใจขึ้นปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 (เสริมการก่อตัว) บริเวณพื้นที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่, ภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 (เสริมการก่อตัว) บริเวณพื้นที่ อ.แม่สรวย - อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย, ภารกิจที่ 3 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ภารกิจที่ 4 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย - อ.แม่จัน จ.เชียงราย และภารกิจที่ 5 ขั้นตอนที่ 3 (โจมตี) บริเวณพื้นที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ - อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาฝุ่นละอองและไฟป่า จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน และพื้นที่การเกษตร อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อ.ลี้ จ.ลำพูน และ อ.แม่จัน จ.เชียงราย ด้านหน่วยฯ จ.พิษณุโลก ได้วางแผนปฏิบัติการโดยร่วมมือกับหน่วยฯ จ.เชียงใหม่ เพื่อปฏิบัติการต่อเนื่องในขั้นตอนของการโจมตี บริเวณ อ.เมือง จ.ตาก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค จ.ตาก และพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาพอากาศ จ.ขอนแก่น อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และ จ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และจากผลการตรวจอากาศของสถานีเรดาร์บ้านผือ จ.อุดรธานี และสถานีเรดาร์พิมาย จ.นครราชสีมา พบว่ามีความชื้นที่ระดับเกิดเมฆ 73% (บ้านผือ) 55% (พิมาย) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 45% (บ้านผือ) 37% (พิมาย) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -0.8 (บ้านผือ) -2.9 (พิมาย) หน่วยฯ นครราชสีมา และหน่วยฯ จ.อุดรธานี ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที โดยเฉพาะภารกิจการเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% และพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จ.สุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จ.ชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 30% (พนม) 60% (ปะทิว) ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 28% (พนม) 50% (ปะทิว) และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -3.7 (พนม) -2.4 (ปะทิว) หน่วยฯ จ.สงขลา หน่วยฯ จ.สุราษฎร์ธานี และหน่วยฯ หัวหิน ขอติดตามสภาพอากาศ หากมีความเหมาะสมจะวางแผนช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าพรุ และพื้นที่ลุ่มรับน้ำที่ได้รับผลกระทบต่อไป