สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้โพสต์ระบุไขข้อสงสัย “หลุมดำในกาแล็กซี M87 นั้นใหญ่แค่ไหน? ภาพแรกของหลุมดำในกาแล็กซี M87 ที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้กับนักวิทยาศาสตร์ และผู้คนทั่วโลก มีคำถามมากมาย ตามมาหลังจากการเห็นภาพแรกของหลุมดำ หนึ่งในคำถามยอดฮิต คือ หลุมดำในกาแล็กซี M87 นั้นใหญ่แค่ไหน? ภาพหลุมดำในกาแล็กซี M87 ที่บันทึกจากเครือข่ายกล้อง EHT นั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมเพียง 50 ไมโครพิลิปดา หรือ 14 ในพันล้านส่วนขององศา #ขอย้ำว่า14ในพันล้านส่วนขององศา ขนาดเงาของหลุมดำที่เห็นในใจกลางภาพ มีเส้นผ่านศูนย์กลางเชิงมุมเพียงประมาณ 5 ในพันล้านส่วนขององศา นับเป็นขนาดปรากฏที่เล็กมาก สาเหตุที่ทำให้เรามองเห็นหลุมดำในกาแล็กซี M87 มีขนาดเล็กนั้น เนื่องจากมันอยู่ห่างจากโลกถึง 55 ล้านปีแสง หรือ ประมาณ 520,000,000,000,000,000,000 กิโลเมตร หากเรานำหลุมดำในกาแล็กซี M87 มาวางในระบบสุริยะของเรา รัศมีของเงาของหลุมดำมีขนาดประมาณ 150 หน่วยดาราศาสตร์* (AU) ใกล้เคียงกับระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์ กับ ยาน Voyager 1 ซึ่งเป็นวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นที่อยู่ห่างไกลที่สุดในอวกาศ ณ ปัจจุบันอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 145 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) * 1 ปีแสง = 63,240 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ดังนั้น ในความเป็นจริงแล้วภาพเงาหลุมดำในกาแล็กซี M87 มีขนาดใหญ่มากๆๆๆๆๆ ใหญ่กว่าวงโคจรของดาวพูลโตประมาณ 4 เท่า มันจึงถูกจัดเป็นหลุมดำมวลยวดยิ่ง (Super Massive Black Hole) เรียบเรียง : ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย สดร. ภาพ: xkcd.com"