นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นำพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดบึงกาฬร่วมพิธีบวงสรวงและแห่น้ำจั้นศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมโขงบ้านท่าไคร้ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ โดยน้ำจั้นแห่งนี้ได้เล่าต่อกันมาว่าบรรพบุรุษได้ใช้น้ำจั้นหรือบ่อน้ำซึมที่มีความสูงกว่าระดับน้ำโขงและไหลลงน้ำโขงตลอดทั้งปีไม่มีแห้ง เป็นแหล่งน้ำดื่มสำหรับคนในตำบลบึงกาฬและทุกๆ ปี หลังจากวันสงกรานต์จะทำพิธีแห่น้ำจั้น ทั้งในทางบกและทางน้ำโดยมีขบวนแห่ฟ้อนรำอันสวยงามเพื่อมาสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ พระคู่บ้านคู่เมืองจังหวัดบึงกาฬ ที่วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวลาว เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ต่างให้ความเคารพนับถือทั้งสองฝั่งน้ำโขง ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังสงกรานต์ทุกปีจะจัดให้มีงานพิธีสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ โดยจัดให้มีงานมหรสพสมโภช มีพุทธศาสนิกชนจากไทยและ สปป.ลาว มาเข้าร่วมพิธีกันอย่างเนืองแน่น ลูกหลานๆ ที่ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานในต่างจังหวัดจะต้องกลับมาบ้านบึงกาฬ เพื่อมาเข้าร่วมพิธีนี้ทุกคนและถือปฏิบัติกันมาเป็นประเพณี วัดโพธาราม ตั้งอยู่ที่บ้านท่าไคร้ หมู่ 5 ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 48 ตารางวา วัดโพธาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2300 ชาวบ้านเรียกวาวัดบ้านท่าไคร้ เดิมชื่อวัดโพธิ์ศรี เพระมีต้นโพธิ์ใหญ่เป็นสัญลักษณ์อยู่ 2 ต้นในวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2308 ต่อมา พ.ศ. 2486 ได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดโพธาราม เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตรอุโบสถเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้าง พ.ศ. 2520 กุฏิสงฆ์ เป็นอาคารไม้ ปุชนียวัตถุมีพระพุทธรูปพระประธาน หน้าตักกว้าง 1.60 เมตร สูง 2.10 เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน และพระพุทธรูปฉาบปูนศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อใหญ่วัดบ้านท่าไคร้หรือหลวงพ่อทองเหล็ก หลวงพ่อพระใหญ่ วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เล่ากันว่าราว 200 กว่าปีก่อน ชาวบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองยศ หรือยโสธร บุกเบิกป่าทึบแล้วพบหลวงพ่อพระใหญ่ ในสภาพมีเถาวัลย์ปกคลุมรกรุงรังและพระเกศหัก จึงช่วยกันบูรณะเสริมพระเกศขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ และฟื้นฟูพื้นที่โดยรอบสร้างเป็นวัดขึ้น ขณะนี้พระอุโบสถทีประดิษฐานหลวงพ่อพระใหญ่อยู่ในระหว่างการบูรณะก่อสร้างหลังใหม่ใหญ่กว่าเดิม หลวงพ่อพระใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว สูง 3 ศอก 1 คืบ ศิลปะเชียงแสน แสดงถึงสายสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมสองฝั่งโขง พุทธศาสนิกชนมักไปกราบไหว้บูชาตั้งจิตอธิษฐานขอพร ขอให้ทำสิ่งใดๆ ได้สำเร็จ เช่นการสอบเข้าเรียน การเข้าทำงานหรือแม้การขอมีบุตร เมื่อได้สมหวังตามที่ขอพรเอาไว้ ก็จะบูชาเอาบั้งไฟ 9 ดอกไปจุดถวายหลวงพ่อพระใหญ่ ณ จุดที่เตรียมไว้ข้างพระอุโบสถ สำหรับการสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ นั้น ผู้ชายสามารถเข้าไปสรงน้ำหลวงพ่อพระใหญ่ได้ภายในอุโบสถ ส่วนผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้าไปสรงน้ำในอุโบสถ แต่เจ้าหน้าที่ได้ทำบันไดเทียบข้างอุโบสถไว้ให้ขึ้นไปสรงน้ำผ่านท่อที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือจะสรงน้ำที่องค์หลวงพ่อพระใหญ่องค์จำลอง ที่ประดิษฐานอยู่นอกอุโบสถก็ได้