วันที่ 19 เม.ย. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางเพจเฟซบุ๊ค iLaw ได้โพสต์ข้อความเปรียบเทียบสูตรคำนวณ สส. ระบบบัญชีรายชื่อ ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยระบุข้อความว่า ...
เทียบชัดๆ สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบ กรธ.-กกต. มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญ . ในวันที่ 24 เมษายน 2562 ที่ประชุมใหญ่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องที่ กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครัั้ง เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะพึงมีตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ . โดยคำร้องของ กกต. มีประเด็นสำคัญว่า กกต. จะสามารถคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ในแบบที่จะทำให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. พึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน (ประมาณ 71,055 เสียง) จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คนนั้น ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ . ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 17 เมษายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญคณะเล็ก 4 คน จากทั้งหมด 9 คน ได้ประชุมพิจารณาประเด็นนี้ และมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ว่าจะรับหรือไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัย . โดยความเห็นแรก เห็นว่า ไม่ควรรับวินิจฉัย เนื่องจาก กกต. จะต้องเลือกแนวทางปฏิบัติเอง แต่หากมีผู้ร้องว่าแนวทางนี้ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ จึงจะเป็นหน้าที่ของศาลในการวินิจฉัยว่าชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ . และความเห็นที่สอง เห็นว่าควรรับวินิจฉัย เพราะการเขียนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีข้อความไม่สอดคล้องต่อรัฐธรรมนูญ หากศาลรับวินิจฉัย ก็จะทำให้ กกต.ไม่ต้องเสียเวลาในการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมาย . อย่างไรก็ดี การการลองคำนวณที่นั่ง ส.ส. โดยใช้ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 พบว่า หากใช้สูตรตามที่ กรธ. แนะนำ (สูตร 27 พรรค) จะมีพรรคการเมือง อย่างน้อย 13 พรรค ที่ได้ที่นั่ง ส.ส. เกินจำนวน ส.ส. พึงมี ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) ที่ระบุว่า ห้ามมีพรรคการเมืองใด มี สส. ในสภา เกินจำนวน สส.พึงมี ยกเว้น กรณีที่พรรคการเมืองนั้น ได้ สส.เขต มากกว่า สส. พึงมี . นอกจากนี้ ในคำร้องของ กกต. อ้างว่า ถ้าไม่ดำเนินการตามสูตรที่ กรธ. แนะนำ หรือการเกลี่ยที่นั่งให้พรรคที่มี ส.ส. พึงมีต่ำกว่า 1 ที่นั่ง ก็จะมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ไม่ถึง 150 คน แต่ทว่า จากสูตรที่นักวิชาการและอดีต กกต. หลายคนออกมาแนะนำ พบว่า หากยึดการตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) และ พ.ร.ป.การเลือกตั้งฯ มาตรา 128 (5) โดยเคร่งครัด หรือใช้สูตรที่พรรคที่ได้ สส.ปาร์ตี้ลิสต์ คือ พรรคที่ได้ สส.พึงมี อย่างน้อย 1 ที่นั่ง (สูตร 17 พรรค) ก็ยังสามารถจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองต่างๆ ได้ โดยที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ