ได้ฤกษ์เปิดคูหาให้เหล่าประชาชาวอิเหนาราว 193 ล้านคน ได้กาบัตรเลือกตั้งกันแล้ว สำหรับ การเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซีย เจ้าของฉายาว่า “อิเหนา” เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อว่าตามทรรศนะของบรรดากูรูผู้สันทัดกรณี ล้วนเอ่ยปากตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า เป็น “การเลือกตั้งที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองโลก” เลยทีเดียวก็ว่าได้ ป้ายหาเสียงของบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากการที่บรรดาหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ อันกว้างใหญ่ไพศาล แถมยังกอปรด้วยเกาะแก่งต่างๆ นับพันเกาะ จะเปิดคูหาให้ประชาชนจำนวน 193 ล้านคน ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งกาบัตรลงคะแนนเลือกผู้แทนแทบจะทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ไล่ไปจนถึงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ประมุขสูงสุดผู้ปกครองประเทศกันเลยทีเดียว โดยเมื่อกล่าวถึง “ประธานาธิบดี” ตำแหน่งแห่งหนที่จะให้ประชาชนคนอิเหนาตัดสินใจว่าจะเลือกใครนั้น ในสมรภูมิเลือกตั้งอันสุดซับซ้อนครั้งประวัติศาสตร์หนนี้ ก็มีสองผู้สัประยุทธ์คู่สำคัญด้วยกัน ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็เสมือนกับการชิงชัยเมื่อช่วง 5 ขวบปีที่ผ่านมา นั่นคือ เป็นการสัประยุทธ์ระหว่าง “นายโจโก วิโดโด” ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง เบอร์ 1 กับ “พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต” ผู้สมัครเบอร์ 2 ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในการชิงชัยเมื่อ 5 ปีที่แล้ว “โจโกวี” อันเป็นนิกเนมฉายาของ “โจโก วิโดโด” คว้าชัยไปอย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะพลเรือนที่สามารถล้มคว่ำบิ๊กทหารของกองทัพได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนการสัประยุทธ์กันหนนี้ แม้ตามการวิเคราะห์ของบรรดากูรูด้านการเมืองอิเหนา ไม่ว่าจะทั้งนอกและในอินโดนีเซีย ล้วนต่างออกมาบอกว่า น่าจะฝุ่นตลบ คือ สูสี ไม่ทิ้งห่างกันมากนัก พล.ท.ปราโบโว ซูเบียนโต ลงพื้นที่หาเสียงกับประชาชนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีขึ้น ทว่า เมื่อว่ากันตามผลการสำรวจความคิดเห็น หรือโพลล์ ของประชาชาวอิเหนา แทบจะทุกสำนัก ล้วนฟันธงตรงกันเป็นเสียงเดียวว่า “โจโกวี” อาจคว้าชัยเหนือ “นายพลซูเบียนโต” ไปมากพอสมควร โดยบางสำนักก็ชี้ว่า น่าจะถึงเกือบๆ 20 จุด กันก็มี ยกตัวอย่างเช่นการสำรวจของ “หนังสือพิมพ์คอมปาส” ระบุว่า โจโกวี มีคะแนนนิยมเหนือกว่าที่ร้อยละ 51.3 ขณะที่ นายพลซูเบียนโต มีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ34 เท่านั้น แต่เมื่อกล่าวถึงการสำรวจโพลล์ ของสำนักอื่นๆ ทั่วๆ ไป “โจโกวี” ก็เหนือกว่า “นายพลซูเบียนโต” ราวๆ 6 – 7 จุด คือ ร้อยละ 53.1 ต่อร้อยละ 46.9 อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงการเลือกตั้งอันสุดซับซ้อนระดับประวัติการณ์ของแดนอิเหนาหนนี้ บรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ได้รับแรงสะท้อน แบบถึงกับสะท้าน จากผลพวงของการดำเนินนโยบายต่างประเทศในสมัยของนายโจโกวี ในฐานะประธานาธิบดี กันแบบหาน้อยไม่ ท่ามกลางความวาดหวังของรัฐบาลอินโดนีเซียที่กำลังจะหมดสมัยไป ในอันที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศ ขยายตัวเติบโต ซึ่งก็เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของรัฐบาลในหลายๆ ประเทศ ที่พึ่งพาเม็ดเงินทุนจากการลงทุนต่างประเทศ มาเป็นหนึ่งในพลวัตรปัจจัยของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในช่วงปีที่ผ่านๆ มา ก็ปรากฏว่า อินโดนีเซีย ก็ถูกยกให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยขยายตัวเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 5 ใช่แต่เท่านั้น ทาง “พีดับเบิลยูซี” บริษัทด้านการตรวจสอบบัญชีและให้คำปรึกษาระดับโลก ก็ประเมินด้วยว่า หากเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เติบโตในลักษณะทำนองนี้เรื่อยไป และสามารถแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงจัดการระบบการทำงานบรรดารัฐกิจ (ระบบราชการ) ได้ดีกว่านี้ แดนอิเหนาแห่งนี้ อาจมีสิทธิ์ทะยานก้าวขึ้นมาเป็น “เบอร์4ของโลก” ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตามหลังอินเดีย จีน และสหรัฐฯ ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี การมีเศรษฐกิจที่ดีของอินโดนีเซียข้างต้น ก็ไปผูกติดยึดโยงกับการพึ่งเม็ดเงินลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งแต่เดิม เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คือ นักลงทุนรายใหญ่ ในขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่ อยู่อันดับราวๆ 13 แต่ถึง ณ ปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า พญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ เบียดแซงหน้าบรรดาประเทศเหล่านั้น ได้ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 แทน พร้อมกับบทบาทอันสำคัญ และมีความซับซ้อนของจีนแผ่นดินใหญ่ บนพื้นดินของอิเหนามาแทนที่ ตัวอย่างการลงทุนจากจีน ที่นับว่ากระเดื่องโลก ก็ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา – บันดุง มูลค่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอาทิ ทว่า ก็ตามมาด้วยกระแสความไม่พอใจจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยม ในอินโดนีเซีย ถึงขนาดถูกนายพลซูเบียนโต หยิบยกขึ้นมากล่าวโจมตีต่อนายโจโกวี จนคะแนนนิยมระส่ำ ลดการทิ้งห่างช่องว่างกันไปเหมือนกัน โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง หนึ่งในการลงทุนของจีนในอินโดนีเซีย เหล่านักวิเคราะห์แสดงทรรศนะว่า ไม่ว่าใครได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียหนนี้ ก็มีภารกิจสำคัญในที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเต็มใจ หรือไม่ก็ตาม นั่นคือ การรับมือกับความสัมพันธ์ต่อจีน ที่นับวันจะสยายกรงเล็บแผ่อิทธิพลเข้ามายังประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์แห่งนี้มากขึ้นทุกขณะ