จากสภาพพื้นที่ของตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นสวนไร่นาเกษตร แต่ภายหลังการท่องเที่ยวได้เข้ามาในพื้นที่ ทุกคนก็เปลี่ยนไปทำงานบริการด้านต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำให้ทิ้งเรื่องการเกษตร ประมง หายไปจากพื้นที่ จนกระทั่ง เมื่อปี 2557 ได้มีการรวมตัวของคนในพื้นที่ ประมาณ 7-8 ท่าน ได้จับเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรตำบลกะรนขึ้น ภายใต้แนวคิดความล้มเหลวของการท่องเที่ยวที่ผ่านมา จึงหันกลับมาทำการเกษตรผสมผสาน โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตเป็นผู้ให้คำปรึกษาและแนะนำ นายปัญญา ใจสมุทร ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต เปิดเผยว่า สถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ตได้มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร โดยการนำสารเร่งพด. มาใช้ ซึ่งเกษตรกรได้นำมาประยุกต์ใช้สำหรับพืช สัตว์ และประมง สำหรับพื้นที่ของตำบลกระรน ได้มีการนำเอาสารเร่งพด.6 มาใช้สำหรับในการบำบัดน้ำเสียในการเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นปลากินพืชก็ช่วยในการแก้ปัญหาในเรื่องของน้ำเน่าเสียได้บางส่วน ทำให้ปลาเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี การนำองค์ความรู้จากการฝึกอบรมของสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต การพาเกษตรกรไปศึกษาดูงานตามศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงต่างๆ มีการอบรมทุกๆปี และมีเจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต เป็นพี่เลี้ยงด้านการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพราะการเกษตร ถือว่าเป็นวิชาวิทยาศาสตร์หนึ่งอย่าง ที่เกษตรกรเรียนแล้วต้องทำ ทำแล้วจึงรู้ ถ้าเรียนแล้วไม่ทำก็จะไม่รู้ผลดีและผลเสียที่แท้จริง พื้นที่ของนายอนันต์ อินทร์หอม หมอดินอาสาประจำตำบลกะรน จากการปลูกพืชแต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่มีการปลูกพืชไม่เป็นโซน ไม่เป็นแนว บางต้นก็มีอายุมากขึ้น บางต้นก็ตายเร็ว เกษตรกรจึงคิดว่าสภาพพื้นที่เป็นภูเขา ต้องปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดูพืชที่มีอยู่ในพื้นที่ก่อนว่ามีพืชชนิดไหนที่ถูกกับพื้นดินบ้าง จาการสำรวจพื้นที่นี้เหมาะกับปลูกสะตอเป็นอันดับ 1 ตามลงมาก็ คือ เหมียง ซึ่งเป็นผักพื้นบ้าน นอกจากนี้ก็จะมี สละ ระกำ ไผ่สำหรับกินหน่อ ไผ่เขียว ไผ่กิมซุง โดยการจัดสรรการปลูกจะมีผักเหมียงมาปลูกใต้ร่มสะตอ ซึ่งได้ผลผลิตดีมาก และยังมีกล้วยเล็บมือนางที่สามารถปลูกในร่มได้ กล้วยน้ำว้าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในดิน แต่ปัญหาอยู่ที่ดินเกษตรกรจึงปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ เพราะฉะนั้นก่อนปลูกพืชแต่ละชนิดต้องเพิ่มอินทรียวัตถุ ทำปุ๋ยพืชสด ทำให้ดินมีความร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี แล้วเราก็จะปลูกพืชได้ทุกชนิด การปรับปรุงบำรุงดินเป็นการรักษาคุณภาพดิน เพื่อให้ดินคงความอุดมสมบูรณ์ ใช้เพาะปลูกพืชได้อย่างยั่งยืน เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่อง ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมี นอกจากนี้ การปรับปรุงบำรุงดิน ควรมีการตรวจสอบสมบัติของดินและการวิเคราะห์ดิน เพื่อให้ได้วิธีการปรับปรุงดินที่เหมาะสม ส่งผลให้ผลผลิตเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ