“กฤษฏา” ขาลุยของจริง เปิดตัวเดือนพ.ค. บิ๊กโปรเจกท์ ดันต้นแบบ 12 โมเดลเกษตรแปลงใหญ่ชั้นนำของประเทศไทย เป้าทำผลผลิตคุณภาพโกอินเตอร์ตีตลาดโลก นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กำลังเดินหน้าขับเคลื่อนบิ๊กโปรเจกท์ “Mega Farm Enterprise” เพื่อยกระดับระบบเกษตรกรรมไทย โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตและจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตามนโยบายการตลาดนำการผลิต ภายใต้แนวทาง การจัดทำแผนการผลิตภาคการเกษตร(Agricultural Production Plan) และ โครงการเกษตรแปลงใหญ่(Mega Farm Project) ซึ่งมีเกษตรกรและภาครัฐรวมทั้งภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเกษตรแปลงใหญ่ “เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบเกษตรกรรมของไทย สามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของภาครัฐและเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในการบริหารจัดการแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายแปลงใหญ่ 12 แปลง ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์ และประมง พื้นที่ไม่จำเป็นต้องติดกัน รวมกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ ขึ้นไป สำหรับ พืชผัก สมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ พื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 300 ไร่ เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) จากการผลิต ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมลดลง เพิ่มรายได้เกษตรกรให้ได้เห็นผลชัดเจน”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ทั้งนี้ การคัดเลือกจากพื้นที่ทุกภูมิภาคเช่นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มอบให้เกษตรกร พื้นที่ตามโครงการจัดทำที่ดินทำกินแห่งชาติ (คทช.) พื้นที่ซึ่งเกษตรกรได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตร หรือวิสาหกิจชุมชน พื้นที่ที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่อยู่แล้วรวมกันอยู่หลายๆ แปลงในพื้นที่อำเภอเดียวกัน ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานเดินหน้าระบบส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยใช้กลไกการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อยเข้าด้วยกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่ง รมว.เกษตรฯได้กำหนดนโยบายให้จัดทำ แผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยวางแผนการผลิตทางการเกษตร ทั้ง พืช ปศุสัตว์ และประมง ตามความต้องการของตลาด หรือกำหนดโควตาทำเกษตรกรรม ให้เหมาะสมว่าจะทำเกษตรกรรมอะไร จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรสมดุลกับความต้องการของตลาด สำหรับโครงการแปลงตัวอย่าง 12 แปลง โดยคัดเลือกจากสินค้าเกษตรที่ประสบปัญหาด้านการตลาด หรือเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพด้านการผลิตแต่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา และหากเป็นสินค้าที่มีปัญหาด้านการตลาด เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ให้คัดเลือกพื้นที่ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นทดแทนหรือปลูกพืชอื่นผสมด้วย ได้แก่ 1.แปลงใหญ่มันสำปะหลัง ต.ทุ่งพระยา อ.สนามชัย จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,488 ไร่ เกษตรกร 53 ราย พัฒนาระบบน้ำหยดเพื่อใช้สำหรับปลูกมันสำปะหลัง สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการผลิตมันสำปะหลังเส้นสะอาดส่งโรงงาน ส่งเสริมให้มีการผลิตมันอินทรีย์ 2.แปลงอ้อยโรงงาน อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พื้นที่ 1,717 ไร่ เกษตรกร 42 ราย เพิ่มคุณภาพโดยการเลือกใช้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับพื้นที่ และเพิ่มผลผลิตโดยการขยายพื้นที่รับน้ำ 3) แปลงสับปะรด อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง พื้นที่ 1,016 ไร่ เกษตรกร 159 ราย พัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์จากสับปะรดโรงงานเป็นบริโภคผลสดแบบเกษตรปลอดภัยและส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า 4.แปลงพืชอาหารสัตว์ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หญ้าเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 3,056 ไร่ เกษตรกร 244 ราย ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมเป็นพืชอาหารสัตว์ และส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์หลังนา 5.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา (ผัก โคนม ไม้ผล ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) พื้นที่ 1,024 ไร่ เกษตรกร 85 ราย เป็นพื้นที่ คทช. 1,024 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 510 ไร่ (จัดสรรให้เกษตรกรรายละ 6 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัย 1ไร่ และพื้นที่ทำกิน 5 ไร่) โดยพัฒนาตามแนวทางแผนแม่บทชุมชนทั้งหมด 14 แผนแม่บทที่ได้ร่วมกันวางแนวทางไว้ 6.แปลงเกษตรผสมผสาน ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี (ผัก ผลไม้ สมุนไพร) พื้นที่ 1,160 ไร่ (เป็นพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกร 726 ไร่ สระน้ำ 200 ไร่) เกษตรกร 121 ราย พัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เชื่อมโยงตลาด พร้อมปรับปรุงดิน 7.ยางพารา กรป.กลาง มะปรางมัน ปัตตานี จำกัด ต.ช้างให้ตก อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี พื้นที่ 1,881 ไร่ เกษตรกร 556 ราย พัฒนาเชื่อมโยงตลาดให้กับกลุ่มสินค้าที่เป็นอาชีพเสริม และพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแผ่นรมควัน เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากน้ำยางสด 8.แปลงยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางหนองบัว จำกัด ต.หนองบัว อ.รัษฎา จ.ตรัง พื้นที่ 5,075 ไร่ เกษตรกร 370 ราย พัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้มีศักยภาพในการรวบรวมยางพารา จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการแปรรูปยาง 9) แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน สหกรณ์นิคมพนม จำกัด จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 22,792 ไร่ เกษตรกร 1,214 ราย ส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบจากกลุ่มผู้ปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน และ 10.แปลงโคนม สหกรณ์การเกษตรไพรนกยูง จำกัด อ.หันคา จ.ชัยนาท เกษตรกร 63 ราย แม่โครีดนม 630 ตัว พัฒนาโดยปรับโครงสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบให้สามารถรับน้ำนมดิบจากฟาร์มเกษตรกรได้ พัฒนาการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เข้มแข็ง ทั้งนี้ยังมีแปลงใหญ่ข้าวอีก 2 แปลง โดยจะเริ่มดำเนินการลงมือต้นฤดูกาลผลิตใหม่ในเดือนพฤษภาคมนี้