วันที่ 16 เม.ย. มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาร่วมกับคณะรัฐมนตรี กับพวก ลงมติเห็นชอบใน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำโดยมิชอบ โดยกรณีนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกกล่าวหากับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ กับพวก กรณีลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมิชอบ และกรณีกล่าวหานายอำพน กิตติอำพน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ละเว้นไม่ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตีตกข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปแล้วอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ 1.คดีให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ตัวเองและรัฐมนตรี 2.คดีบริหารจัดการน้ำผิดพลาดจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 3.คดีไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ในการเปิดเผยราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ 4.คดีประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คุมม็อบ กปปส. ทั้งนี้ยังเหลือคดีที่อยู่ระหว่างการไต่สวนอีก 7 คดี ได้แก่ 1.คดีถูกกล่าวหาร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กรณีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสอง ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ร่วมกับข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และกลุ่มเอกชนทั้งในและต่างระเทศ 2.คดีโยกย้ายข้าราชการโดยมิชอบ กรณีนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3.คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง 4.คดีละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ  กับพวกปราศรัยแบ่งแยกประเทศ 5.คดีปล่อยให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน ‘มวยมาเก๊า’ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 6.คดีร่ำรวยผิดปกติ กรณีครอบครองนาฬิกาเรือนละ 2.5 ล้านบาท และ7.คดีร่ำรวยผิดปกติกรณีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว