"ปชป."สวน"พปชร."ต้อง"รัฐบาลแห่งชาติ"เชื่อเป็นทางออกแก้เดดล็อก แถมนายกฯคนกลางยังป้องกัน"บิ๊กตู่"ใช้มาตรา 44 ได้ด้วย "เพื่อชาติ"ย้อนถามคนเสนอแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติ ใช้หลักอะไรคิด ชี้ผิดหลักการ ปชต. หวั่นนายกฯที่ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง ปชช.ไม่ยอมรับ แนะ 3 แนวทางรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาวิกฤตการเมือง "วัชระ" ชี้แค่ลิเกการเมือง ปมแอบเจรจา พปชร.ขอเก้าอี้ ปธ.สภาฯ พร้อมแฉอดีตสมาชิกพรรคกับอดีตทหารสมคบคิดทุ่มเงินซื้อหัวหน้าพรรคหวังยึดประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.62 นายเทพไท เสนพงศ์ ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ไลฟ์สดผ่านเฟสบุก ว่า หลังจากที่ตนเสนอแนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และนายกฯคนกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาการเมืองเสียงปริ่มน้ำในการตั้งรัฐบาลขณะนี้ ว่า มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน ซึ่งส่วนตัวเองสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลที่มีการถ่วงดุล คือ มีทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้มีการตรวจสอบถ่วงดุลตามอำนาจหน้าที่ แต่เมื่อดูสถานการณ์การเมืองขณะนี้เห็นว่าทั้งสองขั้วยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้แน่ ขั้วการเมืองพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ที่ประกาศว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ ตนก็เคารพความเห็นของท่านและจะเฝ้าดูว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ส่วนขั้วพรรคเพื่อไทยที่เชื่อมั่น ยืนหยัดว่าจะสามารถรวบรวมเสียงข้างมากเกิน250 เสียง ซึ่งในความเป็นจริง กลุ่มพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยเสียงเพียง 250 เสียง เพราะถ้าจะตั้งรัฐบาลได้ต้องใช้เสียงอย่างน้อย 375 เสียงขึ้นไป ถึงจะได้นายกฯที่มีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาจึงจะอยู่บริหารได้ แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองที่เป็นเดดล็อกถึงทางตัน จะไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาได้ ดังนั้นจะเกิดความลักลั่นในการแก้ไขปัญหาและบริหารประเทศ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาคมโลก มีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย แต่คนที่ไม่เสียหาย คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพราะรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม มีมาตรา 44 ที่จะทำอะไรก็ได้ ซ้ำยังเป็นรัฐบาลที่ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เพราะ สนช.ไม่สามารถทำอะไรได้เลย "ล่าสุดคือการยกเลิกการคืนสัมปทานของ กสทช.ให้สื่อหลายช่อง หรือการใช้มาตรา44 ช่วยเหลือกลุ่มทุนโดยลุแก่อำนาจไม่มีการตรวจสอบ จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพเสียงของประชาชน ถ้าเสียงของประชาชนทั้งสภา ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้โดยขั้วใดขั้วหนึ่งก็อยากให้พิจารณาเรื่องความปรองดอง ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลและหานายกฯคนกลางขึ้นมาบริหารแก้ไขปัญหาของประเทศชาติต่อไป" นายเทพไท ระบุ ด้าน นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงกระแสเรื่องรัฐบาลแห่งชาติที่มีหลายฝ่ายเสนอมา ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเมืองไทยดูแล้วมองไม่เห็นทาง ว่าจะเดินต่อไปได้อย่างไร มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดเดดล็อกทางการเมือง จากปัญหาของกติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ อันเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่วางกลไก กับดักเอาไว้ รวมถึงหลายๆอย่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เจือจางความเป็นประชาธิปไตยของประเทศไทยลงไปอีก ทำให้ในช่วงนี้หลายฝ่ายออกมาเสนอทางออกโดยหนึ่งในข้อเสนอนั้นคือ รัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ต้องมาจากประชาชน และจากการเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีผู้เสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ตนไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นใช้หลักคิดหรือตรรกะอะไร เพราะนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น คงจะไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั้งในและต่างประเทศ แล้วเช่นนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาและบริหารประเทศได้อย่างไร นายรยุศด์ กล่าวอีกว่า และที่สำคัญประเด็นที่ตนมีความกังวล คือ กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ใครจะเป็นเจ้าภาพ ใครจะเป็นผู้ริเริ่ม และการได้มาซึ่ง นายกรัฐมนตรี และ ครม. นั้น จะมีหลักเกณฑ์ในการสรรหาอย่างไร เพราะเราก็ไม่ได้มีตัวบทกฎหมายรองรับในเรื่องนี้เอาไว้ ส่วนรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่มีบางฝ่ายเสนอมาก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ได้มาจากยินยอมพร้อมใจของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นตนจึงมองว่า แม้การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองในระยะสั้นได้ แต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลแห่งชาตินั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของฝ่ายที่เสนอแนวคิดนี้ต้องออกมาอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เพราะไม่เพียงขัดหลักการประชาธิปไตย ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐาน และประเพณีการปกครองที่ทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของประเทศเจือจางถดถอยไปอีก นายรยุศด์ กล่าวว่า ตนยังคิดว่าการเมืองไทยตอนนี้ยังไปไม่ถึงทางตัน หากทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมือง ยอมเสียสละ และถอยกันคนละก้าวเพื่อบ้านเมือง ซึ่งตนขอเสนอให้พรรคการเมืองที่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (ควรจะเป็นพรรคอันดับ 1 ก่อนหากไม่สำเร็จก็เป็นพรรคอันดับ 2) และไม่ว่าพรรคใดรวบรวมเสียงได้ ตนเชื่อว่า ส.ว. ทั้ง 250 คน จะไม่ใช่ปัญหาในการโหวตเลือกนายกฯ ไม่เช่นนั้นก็จะต้องถูกกดดันอย่างหนักจากสังคม และอนาคตทางการเมืองของ ส.ว.เหล่านั้นก็คงจบไม่สวย โดยรัฐบาลใหม่ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนนำก็ตามต้องประกาศภารกิจสำคัญ 3 อย่าง คือ 1. ประกาศระยะเวลาการทำงานของรัฐบาลให้ชัดเจนซึ่งไม่ควรจะเกิน 1 ปี และต้องกำหนดวันเลือกตั้งครั้งต่อไป 2.ต้องแก้ไขกติกาและกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยอมรับกับทุกฝ่าย 3. รัฐบาลต้องไม่อนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันระยะยาว หรือโครงการใหญ่ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ พร้อมทั้งไม่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทุกระดับเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง "ซึ่งข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังกล่าวอาจจะฟังดูเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่หากทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมืองมองเห็นแล้วว่า อนาคตทางการเมืองจากนี้ไปจะต้องเจอกับวิกฤต แล้วทำไมเราต้องเดินต่อไปเมื่อรู้ว่าจะต้องเจอปัญหา และวันนี้ประเทศชาติก็บอบช้ำมานานมากแล้วเช่นกัน" นายรยุศด์ กล่าว ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคประชาธิปัตย์ ต่อรองตำแหน่งประธานสภาฯ ให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค เพื่อแลกกับการร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ว่า เป็นการปล่อยข่าวเลอะเทอะที่สุด สื่อมวลชนควรมีจรรยาบรรณในการตรวจสอบนำเสนอข่าวและความจริง ไม่ใช่กลายเป็นเครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อในสังคม นายบัญญัติ เป็นผู้มีคุณธรรม มีหลักการและจริยธรรมทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรคมาโดยตลอด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมไปเป็นประธานสภาฯ เพื่อให้ได้ตำแหน่งจากพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่านายบัญญัติไม่เคยมีความคิดนี้เลยแม้แต่น้อย นักการเมืองก็ต้องอ่านให้ขาดว่าพรรคไหนเป็นพรรคการเมืองจริงๆหรือไม่ พรรคไหนเป็นพรรคเฉพาะกิจ และประการสำคัญคือภายใต้สภาวการณ์แบบนี้ ถ้ามีรัฐบาลใหม่ย่อมปราศจากความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพใดๆ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายวัชระ กล่าวอีกว่า การที่มีใครบางคนแต่งตั้งตนเองไปแอบอ้างเจรจาต่างๆนานานั้นจึงเป็นเพียงลิเกการเมืองเท่านั้น แต่ปัญหาที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเผชิญอยู่ คือ คนที่ลาออกจากพรรคไปแล้วกำลังทุ่มยุทธปัจจัยรอบใหม่ เพื่อใช้นอมินีกลับมายึดพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากล้มเหลวมาโดยตลอด "คนที่ลาออกจากพรรคไปก็สมคบคิดกับนายทหารการเมืองเอาเงินมาใช้ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งใหม่ เพื่อหวังยึดพรรคให้ไปเป็นฐานอำนาจให้อดีตนายทหารบางคน แต่ผมเชื่อมั่นว่า แผนการยึดพรรคของคนกลุ่มนี้จะล้มเหลว เพราะสมาชิกพรรคที่มีอุดมการณ์ย่อมไม่เห็นด้วย อย่าให้ผลประโยชน์และตำแหน่งที่เขาเสนอล่อลวงอยู่เหนือเหตุผลและความเป็นจริง" นายวัชระ กล่าว