สัมภาษณ์พิเศษ “นันทวัฒน์ บรมานันท์” เรื่อง : ชนิดา สระแก้ว “ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเพราะเราไม่ยอมรับกัน พอไม่ยอมรับก็หาโอกาสคว่ำ ทำไม่ได้ในสภาก็ออกมานอกสภา ทำกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะคว่ำให้ได้ ซึ่งถ้าใช้วิธีแบบนี้อีกก็จะกลับไปวังวนเดิม ดังนั้นต้องให้กลไกในรัฐสภาเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ” หมายเหตุ: “ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์พิเศษ “สยามรัฐ” วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองภายหลังการเลือกตั้ง แต่ยังหาทางออกไม่ได้ สาเหตุหนึ่งเพราะการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และมองว่าประเทศยังมีความแตกแยกกันไม่ใช่แค่สองฝ่าย แต่กลับ 4 ฝ่ายเพิ่มเข้ามาอีก จึงเป็นห่วงว่าความขัดแย้งเหล่านั้นจะปะทุและรุนแรงขึ้นไปอีก มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ -หลังการเลือกตั้งทำไมการเมืองดูเหมือนทุกฝ่ายติดเดทล็อคไปกันหมด ต้องค่อยๆแก้ไปทีละเปลาะ วันนี้คงต้องแก้เปลาะแรกก่อนคือต้องมีส.ส.ให้ครบ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ก็ยังวนไปวนมา โดยเฉพาะการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยสามัญสำนึกของคนทั่วๆไปมันต้องรู้แล้วว่าจะคำนวณอย่างไรตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เพราะเขาให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้จนวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะทำอย่างไร ผมว่าทุกคนต้องย้อนกลับไปดูแลตัวเองกันแล้ว เขาให้มาทำหน้าที่กันนานแล้ว มีเงินเดือน มีค่าตอบแทนครบถ้วนหมด แต่ว่าถึงเวลาแล้วทำงานไม่ได้ และยังทำให้เกิดข้อโต้เถียง เกิดการแตกแยกเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องเคลียร์เรื่องส.ส.ให้เสร็จ และอีกเรื่องหนึ่งที่มีคนพูดกันเยอะการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว.ที่วันนี้เงียบไป ใครเป็นคณะกรรมการ และวิธีการเลือกกันมาอย่างไร ซึ่งก็อยากทราบเกณฑ์ตรงนี้ อย่าลืมว่าคนพวกนี้พอเข้ามามาทำงานในฐานะตัวแทนประชาชน กินเงินเดือน ค่าตอบแทน ที่มาจากภาษีอากรของประชาชน ประชาชนก็มีส่วนต้องรับรู้ที่มา และต้องอธิบายได้ว่าทำไปถึงเป็นคนนี้ ทำไมได้เป็นตำแหน่งนี้ -วันนี้อาจารย์เป็นห่วงอะไรสำหรับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นเวลานี้บ้างหรือไม่ ตอนนี้ และอดีตที่ผ่านมาไม่เหมือนกันหลายอย่าง ขณะนี้จะเห็นว่าสื่อต่าง ๆคนเข้าถึงได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นทางเฟซบุค ออนไลน์ต่าง ๆบางทีก็เป็นสื่อ บางทีก็เป็นคนธรรมดา แล้วนำเรื่องราวในอดีต เรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และทำให้คนทะเลาะกัน ซึ่งตรงนี้น่ากลัว ถ้ารับฟังข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงหรือเท็จ และบางครั้งก็ตัดข้อมูลบางส่วนออก หรือเอาข้อมูลเก่าสมัยไหนไม่รู้มาใช้กลับคนที่อยู่คนละสถานะกัน ก็เกิดความแตกแยก และเกิดประเด็นปัญหาขึ้นในบ้านเมือง เพราะฉะนั้นตรงนี้น่ากลัวมาก คนเราสามารถรับข้อมูลได้เยอะมากขึ้น แต่การกลั่นกรองข้อมูลก็จะน้อยลง สมัยก่อนเวลามีปัญหาเหล่านี้ขึ้นก็จะรออ่านหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่มีนักเขียน หรือนักวิชาการที่เก่ง ๆเขียน แต่ว่าตอนนี้จะเห็นว่าเป็นใครก็ไม่รู้ก็ทำสื่อกันหมด หรือเฟซบุคส์เล็กๆของคนบางคนสามารถปล่อยข่าวออกมาให้มีแรงกระทบสูงก็ยังได้ - อาจารย์มองเห็นปรากฎการณ์อะไรบ้างจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เหมือนกับเรามองไม่เห็นฝั่งอยู่ดีว่าจะจบลงในลักษณะไหน เพราะว่าก่อนที่จะมีการทำรัฐประหารบ้านเมืองเราก็ตกอยู่ในความวุ่นวาย พอรัฐประหารก็มีความวุ่นวายต่อเนื่องมาตลอด โดยคณะรัฐประหารมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำสั่งคสช.ต่าง ๆทำให้ถูกสะกดให้หยุดนิ่ง การชุมนุมก็เป็นสิ่งต้องห้าม เ พราะฉะนั้นบ้านเมืองดูเหมือนกับว่าจะเดินไปได้ แต่ภายใต้การเดินไปได้ก็เหมือนทุกคนถูกจับไว้ในกรอบ พอะมีการเลือกตั้งกฎเหล่านั้นก็คลาย มีการหาเสียง และชุมนุมทางการเมือง มีการประท้วง มีการออกมาเรียกร้องต่าง ๆเยอะแยะไปหมด และตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถมีพรรคการเมืองพรรคใหญ่พอที่จะตั้งรัฐบาลได้ จึงมีปรากฎการณ์อีกแบบหนึ่งคือมีความวุ่นวาย 2 ส่วนคือสภา และรัฐบาล ซึ่งจะเห็นว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ยังไม่ลงตัว ส่วนความวุ่นวายข้างนอกก็เห็นกันอยู่มีการจับกลุ่มของกลุ่มคนเยอะแยะเต็มไปหมด เพื่อคัดค้านและต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คนที่ทำรัฐประหารเข้ามาอยู่ในวงจรการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่รัฐประหารมา 5 ปีไม่สามารถแก้ไขปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ เมื่อก่อนมีความพยายามที่จะทำข้อตกลงการปรองดองระหว่างแต่ละฝ่ายวันนี้ก็หายไป คู่ขัดแย้งเดิมยังอยู่ แต่เพิ่มคนใหม่เข้ามาอีกด้วย เมื่อก่อนมีสองฝ่ายเสื้อแดง และเสื้อเหลือง วันนี้กลุ่มนั้นก็ยังอยู่ แต่ว่าวันนี้เราเพิ่มคู่ขัดแย้งเข้ามาอีกหนึ่ง คือคนที่ทำรัฐประหารและต้องการอยู่ต่อ เพราะฉะนั้นมองไม่เห็นว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะสงบได้อย่างไร -ห่วงหรือไม่ว่าการโพสต์เฟส หรือสื่อทางอิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆจะทำให้ดึงให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย กังวลเหมือนกัน ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจในทุกเรื่องเท่าไหร่ ถึงจุดหนึ่งเรามีนักรบที่อยู่ในระบบอินเตอร์เนตเยอะมาก แต่เวลาจะออกมาข้างนอกทุกคนก็มีความคิดของตัวเอง การกะเกณฑ์หรือการชักจูงให้คนออกมาอาจจะยากขึ้นกว่าเดิม แต่ว่าอาจจะมีองค์ประกอบอื่นเข้ามา เช่น อยู่ดี ๆมีการใช้กำลังทหาร มีการใช้กำลังตำรวจ หรือการคุกคามใครบางคนจนผิดปกติวิสัย พวกนี้จะเป็นตัวจุดเชื้อให้เกิดการต่อต้าน และจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะไปเปรียบเทียบกับคนที่เข้าคิวขอถ่ายรูปกับคนเดินขบวนกับสัดส่วนอาจจะใกล้เคียงกันก็ได้ หรือว่าจะต่างกันก็ได้เราเดาใจกันไม่ออก -ขณะนี้ดูเหมือนว่ามีความพยายามใส่ร้าย หรือผลักอีกฝ่ายไปอีกฝั่งหนึ่งเหมือนยุคของกับนายทักษิณ ผมเคยมีส่วนเกี่ยวข้อง และสัมผัสเรื่องของกับนายทักษิณพอสมควร ผมได้ออกมาเขียนและออกมาพูดแล้ว แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจากการดูในเฟซบุคส์ อินเตอร์เนต หรือบางเวบไซต์ของคนบางคนจุดยืนไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยมีการแบ่งฝักเป็นฝ่าย ไม่ว่าใครจะเข้ามา พวกนี้เป็นคนละพวกกับฉัน ก็ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม แต่เราก็เข้าใจพอคนมันเกลียดแล้วจะให้เขารักมันเป็นไปไม่ได้ เกลียดกันจนตายไปข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นพอสันนิษฐานว่าใครเป็นพวกของคนที่เขาเกลียด เขาก็จะถูกลากไปเกลียดด้วย มันเป็นพฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ เราไปทำอะไรไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคนที่จะเข้ามาบริหารประเทศมากกว่า คนที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องตรวจสอบได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ ที่ผ่านมาจะเห็นก่อนรัฐประหารปี 49 หรือปี 57 การตรวจสอบทำได้ลำบาก และรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารตรวจสอบได้ยากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่มีการตรวจสอบมีระบบ ยุติธรรม และเที่ยงธรรมจริงๆ กระบวนการตรวจสอบก็สามารถเคลียร์ปัญหาเรื่องพวกนี้ได้ การที่บอกว่าใครโกงหรือใช้อำนาจโดยไม่ชอบง่ายมาก แค่เขียนในเฟซบุค และเอาไปแชร์ก็จบแล้ว แต่การพิสูจน์ต่างหากที่สำคัญ เพราะในอดีตมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์ ตรงนี้ต้องดูให้เป็นระบบมากขึ้นกว่าเดิม -มองบทบาทของทหารขณะนี้ออกตัวแรง พูดลำบาก เราก็เห็นทหารเป็นแบบนี้มาตลอด บ้านเราคนมีอำนาจไม่ว่าจะเป็นข้าราชการระดับสูง ทหาร หรือตำรวจ มักจะมีลักษณะอาการไม่ต่างกันเท่าไหร่ การเข้ามาไม่ใช่ตัวเขาเข้ามาแต่เพราะตำแหน่ง พอนายจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้จะมีอำนาจแบบนี้ ก็น่าจะเข้าใจ พอพ้นอำนาจไป คนที่เข้ามาแทนก็จะมีอำนาจแบบเดิม แต่คนที่พ้นไปก็ไม่มีอำนาจเลย เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับวิธีคิดของแต่ละคน ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก เรื่องวัฒนธรรมแบบนี้พอมีตำแหน่งก็จะมีอำนาจตามมา และเพลิดเพลินในการใช้อำนาจตลอด แต่ปัจจุบันบทบาทของทหารเยอะขึ้นๆ แต่ผมตอบไม่ได้ว่าจะบานปลายหรือไม่ เพราะตอนรัฐประหารไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีได้มีการรวบรวมกันออกมาต่อต้าน แต่ปัจจุบันผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการที่จะไปรวบรวมคนมาเพื่อที่จะออกมาต่อสู้และต่อต้านจะมีหรือเปล่า ถ้ามีก็น่ากังวลเหมือนกัน -สถานการณ์ทางการเมืองจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ร้อนแรงอยู่ตลอดตอนนี้ และร้อนแรงไปเรื่อย ๆจนกว่าจะมีรัฐบาล ไม่เช่นนั้นก็จะมีบ่อนทำลายทุกวิถีทาง มีการดิสเครดิตไปเรื่อยๆ ของทุกฝ่าย ต้องจับตาดูกัน -อะไรคือจุดแข็ง ของประเทศไทยที่อาจารย์มองว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อต่อยอดหรือนำประเทศออกจากวังวน วันนี้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย และยอมรับกันทุกฝ่าย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทุกคนควรยอมรับผลการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นสีไหนชนะก็ต้องยอมรับ ถ้ายอมรับผลการเลือกตั้งใครชนะก็ต้องปล่อยไป แม้ว่าจะได้คนที่ไม่ชอบเข้ามา เราอาจจะไม่ชอบบรรดา “พรรคเพื่อ” ทั้งหลาย แต่เขาชนะก็ต้องให้เขา เราอาจจะไม่ชอบพรรคทหาร แต่ถ้าเขาเข้ามาก็ต้องยอมเขา และใช้กลไกในรัฐสภาควบคุมกัน การบริหารราชการแผ่นดินหรือการออกกฎหมายก็มีกลไกในรัฐธรรมนูญควบคุมอยู่แล้ว ซึ่งขึ้นอยู่กับการยอมรับมากกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเพราะเราไม่ยอมรับกัน พอไม่ยอมรับก็หาโอกาสคว่ำ ทำไม่ได้ในสภาก็ออกมานอกสภา ทำกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะคว่ำให้ได้ ซึ่งถ้าใช้วิธีแบบนี้อีกก็จะกลับไปวังวนเดิม ดังนั้นต้องให้กลไกในรัฐสภาเดินหน้าเต็มที่ ซึ่งมีอยู่ในรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบฝ่ายบริหาร การถอดถอน ต้องใช้แบบนี้ ไม่ใช่ใช้วิธีปิดถนนหรือก่อม็อบ ผมคิดว่าการยอมรับผลการเลือกตั้งจึงจะเดินหน้า -การนำเสนอแนวนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง คิดว่าประชาชนจะต้องติดตาม ตรวจสอบกันมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อในการหาเสียงเท่านั้น ช่วงหาเสียงเราเสนอได้ทุกรูปแบบ แต่ตอนทำมีองค์ประกอบหลายอย่าง พรรคการเมืองอาจจะอยากทำ แต่เมื่อถึงเวลาจริงงบประมาณไม่ได้ ก็ทำไม่ได้ มีหลายส่วนและหลายองค์ประกอบ เราเห็นมาตลอดว่าเวลาเสนอนโยบายมาแล้วทำไม่ได้ จริงๆความจริงต้องดูก่อนด้วยซ้ำว่านโยบายเหล่านั้นทำได้จริงหรือเปล่า อย่างกรณีการขึ้นค่าแรงอย่างมหาวินาศ เคยคุยกับตัวแทนภาคเอกชน และผู้ประกอบการทั้งหมดหรือยัง ว่าแบบนี้จะเป็นอย่างไร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสภาพัฒน์ฯหรือเปล่าว่าถ้าขึ้นค่าแรงสูงขนาดนี้จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร ที่น่ากลัวคือนโยบายที่เป็นไปไม่ได้แล้วเสนอ แต่มีบางนโยบายเป็นไปได้แต่อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลเสียงแตก ประเทศเงินไม่พอ สำนักงบฯไม่ให้ หรือไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาประเทศที่หน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำไว้ล่วงหน้า -ในมุมมองของอาจารย์เอง คิดว่าปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาล และทุกฝ่ายควรต้องเร่งแก้ไขในบ้านเมือง 3 เรื่องแรก มีอะไรบ้าง วันนี้ถ้าไปถามทุกคนคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และกระทบคนวงกว้าง ทุกวันนี้การค้าขายพออยู่ได้ ลำบากทุกวงการ ผมเป็นนักวิชาการงานวิจัยก็น้อยลงมาก ทุกคนกลัวที่จะใช้เงินไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน กลัวการใช้เงิน ปัญหาแรกที่ควรจะต้องทำคือเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาที่สองเป็นอมตะที่แก้ไม่ได้ จะทำอย่างไรจะให้คนไทยหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันเดิน ไม่ว่าในหรือนอกสภา คือละความโกรธ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ผมว่ามันยาก ส่วนด้านอื่นการลงทุน ความเชื่อมั่น การทำให้ประเทศต่างๆในโลกยอมรับการปกครองของเรา ถ้ามีการกล่าวหาว่าโกงเลือกตั้งเขาอาจจะไม่ยอมรับก็ได้ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการลงทุนด้วย ถ้าต่างชาติเข้ามานักลงทุนเยอะเราก็ไปรอด -มองนโยบายประชานิยมสุดโต่ง มีการซื้อเสียงกันมาก จะทำให้ประเทศล่มสลาย เรื่องประชานิยมผมเคยพูดมา 10 ปีแล้ว ใช้เงินของรัฐ แต่ระบบการให้ทำให้ประเทศอยู่รอดได้ หรือที่เรียกว่าระบบสวัสดิการ เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องมีการเก็บภาษีมากขึ้นและเอาภาษีเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นสวัสดิการกับคนอย่างถ้วนหน้า แต่บ้านเราเก็บภาษียากมาก มีการลดภาษีส่วนนั้น ส่วนนี้ การท่องเที่ยวเวลานี้ตัวเลขถดถอย เงินเข้าประเทศน้อยลง มีการลดภาษี และไม่เก็บภาษีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเราก็แจกเงินประชาชนมากขึ้น ตรงนี้น่ากลัว ไม่มีใครทราบสถานะการเงินของประเทศที่เป็นความจริง ผมเคยอ่านบทความของอดีตรัฐมนตรีบางคนที่ออกมาเขียนว่าฐานะการเงินของคลังของเราไม่ค่อยดี เพราะเราใช้เงินเยอะมาก เราไม่ทราบตัวเลขจริง ๆมันอันตรายขนาดไหน ไม่มีประเทศไหนใช้ประชานิยมแล้วประสบผลสำเร็จระยะยาว แต่ระยะสั้นซื้อใจคนได้ แต่ระยะยาวไปไม่ได้มีแต่ควักออก ๆแต่ไม่มีเงินเข้า เพราะฉะนั้นวิธีที่จะรอดจากรัฐสวัสดิการคือการเก็บภาษีให้มากขึ้น และเอาภาษีเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นสวัสดิการ ก็พอไปได้ส่วนหนึ่ง และเร่งสร้างงาน ทำให้คนที่มีรายได้ทั้งหมดแล้วมาเสียภาษี จะเห็นว่าตัวเลขคนเสียภาษีน้อยมาก เมื่อเรามีรายได้จากภาษีน้อย และจ่ายเยอะก็จะมีปัญหาการเงินการคลังของประเทศอยู่แล้ว -ถ้ามีการยุบพรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นจริงจะส่งผลอะไร ไม่สามารถประเมินได้ ผมก็เป็นห่วงเหมือนกัน ตอนยุบพรรคไทยรักษาชาติผมก็เป็นห่วงแต่ตอนนั้นยังไม่มีการเลือกตั้งก็ไม่มีอะไรวุ่นวาย ไม่ใช่แค่พรรคอนาคตใหม่ที่มีการร้องให้ยุบ พลังประชารัฐก็มีคนขอให้ยุบ และยังมีพรรคเล็กพรรคน้อยอีก การยุบพรรคที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ตอนไทยรักษาชาติยังไม่ได้เลือกตั้ง แต่ตอนนี้คะแนนเสียงที่ถูกยุบพรรคไปจะหายเป็นล้านๆคะแนนเสียงก็จะเป็นชนวนพอสมควร เพราะฉะนั้นผมถึงได้บอกว่าอย่างแรก ให้กลไกเดินคือยอมรับผลการเลือกตั้ง ใครตั้งรัฐบาลได้ตั้งไปแล้ว แล้วตรวจสอบเขา ใครเข้ามาได้อีกรอบก็ปล่อย ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้กลไกทางสภา ในการตรวจสอบเอาลงจากตำแหน่งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าเราเดินตามกรอบ และกติกา น่าจะดีที่สุด -คิดว่า 5 ปีของรัฐบาลคสช.กับการปฏิรูปที่ผ่านมา พอช่วยได้บ้าง มีกฎหมายใหม่เกิดขึ้น มีผลการศึกษาออกมา จุดใหญ่คือคนยังแตกแยก เป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่มีทางจบลง ทำอะไรมาก็ไม่เอา ต่อให้ดีอย่างไรก็ไม่ยอมรับ สมัยก่อนมีแดง เหลือง แต่ตอนนี้ก็แตกออกไปอีกอาจจะมีคนไม่ชอบพรรคทหาร จาก 2 ฝ่ายกลายเป็น 3 -4 ฝ่าย แทนที่จาก 2 ฝ่ายจะรวมกันกลับแยกออกไปอีก เพราะฉะนั้นกลายเป็นความล้มเหลว ไม่สามารถทำให้คนหันหน้าเข้าหากันได้ และรอปัญหาปะทุ และไม่มีใครทราบว่าจะปะทุออกมาในลักษณะไหน และจะรุนแรงแค่ไหน เพราะความแตกแยกคงอยู่และมากขึ้นเรื่อยๆ