“ ช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศคือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจเก่าไปสู่อำนาจที่เป็นยุคใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามามีอำนาจแทน และการส่งผ่านยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรายังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นช่วงนี้ยังคงมีความไม่แน่นอน มีความไม่เสถียรและด้วยการนำช่วงรอยต่อตรงนี้มาเป็นข้ออ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกระแส และสร้างฐานมวลชนในการช่วงชิงความเป็นเสียงส่วนมาก เพื่อให้ได้รับความชอบธรรม” เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ไปแล้ว เหตุนี้ทำให้เราจำเป็นต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด และสอดรับกับการพัฒนานี้ รวมถึง “เรื่องการเมือง” ก็เช่นกัน ก่อนหน้านี้เราจะได้ยินการเมืองกันตามสภากาแฟยามเช้า หรือการรับรู้ผ่านหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์เท่านั้น แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ผู้คนหันมาสนใจเรื่องราวต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ที่เปรียบเหมือนดาบสองคม วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับการเมืองในยุค 5 G เพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงการรับข้อมูลข่าวสารในโลกปัจจุบัน ผ่านการพูดคุยกับ “ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต” รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) - มองวิธีการใช้โซเชียลมีเดียกับการเมืองไทยอย่างไร เพราะขณะนี้มีการใช้โซเชียลการปลุกระดมมากขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงสุญญากาศคือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจเก่าไปสู่อำนาจที่เป็นยุคใหม่ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นกลุ่มเดิมหรือกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามามีอำนาจแทน และการส่งผ่านยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเรายังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติ ดังนั้นช่วงนี้ยังคงมีความไม่แน่นอน มีความไม่เสถียร และด้วยการนำช่วงรอยต่อตรงนี้มาเป็นข้ออ้าง ดังนั้นจึงต้องมีการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างกระแส และสร้างฐานมวลชนในการช่วงชิงความเป็นเสียงส่วนมาก เพื่อให้ได้รับความชอบธรรม ซึ่งความชอบธรรมตามที่เราเข้าใจกันในระบอบประชาธิปไตยคือ การได้รับเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนเป็นวาทกรรมที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยพยายามอ้างเรื่องเสียงข้างมาก ขณะที่คำว่าเสียงข้างมากสำหรับผมถือเป็นวาทกรรม ว่าเสียงข้างมากคืออะไร ทั้งนี้ในการช่วงชิงเสียงในอดีต หลักๆ เราจะใช้สื่อและโพลสำรวจความคิดเห็น แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ใช้โซเชียลมีเดียเยอะมากขนาดนี้ มีการจัดตั้งและแย่งชิงมวลชนทางออนไลน์ขึ้นมา โดยเฉพาะคนกลุ่มที่อยู่ในโซเชียลที่มีทั้งคนรุ่นใหม่คนทำงาน แต่ละฝ่ายจึงต้องพยายามแย่งชิง อย่างที่เขาเคยบอกว่าการที่จะยึดอำนาจได้จะต้องมีทุน มีอาวุธ มีเงิน มีมวลชน ซึ่งมวลชนครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่ในโลกจริง บนดิน หรือใต้ดิน แต่อีกส่วนหนึ่งที่หลายพรรคได้พิสูจน์ โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่ามวลชนทางออนไลน์มีจำนวนมากพอที่จะสร้างให้เกิดกระแส และกระแสในโซเชียลจะต่อยอดไปสู่กระแสจริงได้ ขณะที่เมื่อโซเชียลไปรวมกับสื่อมวลชนที่อยู่ในสภาวะที่ขาดทุน ต้องเอาตัวรอด เพราะฉะนั้นสื่อมวลชนต้องการยอด ซึ่งในสภาวะที่สื่อสิ่งพิมพ์หรือว่าสื่อต่างๆ มันขายไม่ได้ การที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือ เรื่องของการสร้างมวลชนในออนไลน์ ดังนั้นไม่ว่าเขาจะอยู่ค่ายไหนหรือสื่อไหน บางสื่อผมเชื่อว่ามีค่ายชัดเจนอย่างที่เราเห็น ไม่ว่าจะผู้ถือหุ้น หรือผู้มีอำนาจในการออกนโยบาย พูดง่ายๆ คือมีข้างรัฐบาลกับข้างต่อต้านรัฐบาล แต่สื่ออีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าไม่ได้มีข้างชัดเจน เขาเลือกที่จะต่อยอดกับกระแสที่จะได้ยอดไลค์ ยอดแชร์ เพราะมันจะทำให้เขาได้รับความนิยมแล้วมีผลต่อค่าโฆษณา ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไมจะต้องมีการปั่นป่วนบนสื่อโซเชี่ยล ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นการปลุกระดม แต่เรียกว่าเป็นการปั่นกระแส ซึ่งเรื่องนี้ผมพูดไปก็ไม่มีหลักฐาน แต่มันรับรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่ามีการปั่นกระแส ปั่นแฮชแท็ก และปั่นประเด็นขึ้นมา โดยหากใครมีการวางแผนไว้ มันจะทำให้การปั่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกันในทุกทิศทุกขั้นตอน และหากประเด็นไหนสื่อพูดพร้อมกันเยอะๆ มันจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชน - การเลือกตั้งครั้งนี้และครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมาแตกต่างกันอย่างไรในเรื่องบทบาทของโซเชียลมีเดีย การเลือกตั้งครั้งนี้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคที่โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยสำคัญมากๆ ในการก่อให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งรวมไปถึงพรรคการเมือง และทุกอย่าง ขณะที่การรับรู้มีผลต่อจุดยืนของประชาชน ซึ่งในการสร้างความนิยมสร้างกระแสต่างๆ การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยก้าวสู่ยุคที่ต้องใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการทำการเมือง และการสื่อสารทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ -ขณะนี้มีทั้งข่าวเท็จ ข่าวปลุกระดม การทำIOที่ตอนนี้ไม่ใช่แค่ทหารที่จะทำอย่างเดียว มองว่าเรื่องนี้จะเป็นการปลุกมวลชนผ่านโซเชียลเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงหรือไม่ เรื่องนี้คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น แต่ความรุนแรงมันเกิดจากการปะทะกันทางความคิดที่มัน แตกแยกกัน ขณะนี้เราจะเห็นว่าสถานการณ์มีเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าเป็นเรื่องทั่วๆ ไปคงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอมีเรื่องของความมั่นคง อย่างพรรคอนาคตใหม่การหาเสียงของเขามีการพาดพิงไปถึงเรื่องของความมั่นคง แน่นอนว่าความมั่นคงมีผลต่อฐานอำนาจของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิด และแย่งชิงมวลชนกันอย่างที่เห็น แต่หลังเลือกตั้งกลายเป็นว่ามันเริ่มมีการตั้งข้อหา ซึ่งนำไปสู่การเรียกระดมมวลชน ถ้าถามว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ หากมองในมิติทางอนไลน์ มันมีความรุนแรงในทางปะทะกันแน่นอน มีแฟนคลับของแต่ละกลุ่มที่แรงใส่กัน แต่จะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ยังเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น ยกเว้นว่ามันจะมีอะไรที่เราคาดไม่ถึง มันมีปัจจัยหลายอย่างที่ต่างไปจากเดิมมาก อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงทางIOหรือการต่อสู้กันทางจิตวิทยา ซึ่งจะมีการสร้างความจริงขึ้นมาในหลายรูปแบบ และแข่งกันระหว่างความจริงที่ต่างกัน ว่าคนไหนมีความชอบธรรมในการสร้างความจริงมากกว่ากัน ซึ่ง IO นี้อาจจะมีอยู่หลักๆ 2 ฝ่ายที่ใช้คือฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ เพียงแต่ว่าในฝ่ายนั้นอาจจะมีหลายพวกหลายเครือข่ายหรือพันธมิตร โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านรัฐ แต่ฝ่ายรัฐก็พยายามทำให้ดูเหมือนว่ามีพวกมากกว่าหนึ่ง ไม่ใช่มาจากแค่รัฐอย่างเดียว เช่น อาจจะมีภาคประชาชน หรือนักวิชาการ ซึ่งแต่ละคนจะต้องมีเครือข่ายที่สนับสนุนตนเอง อีกทั้งแต่ละเครือข่ายจะสร้างความจริงของแต่ละชุดขึ้นมา มันจะมีความรุนแรงมากขึ้น มันจะเริ่มตั้งแต่การปล่อยข่าวลือธรรมดา ไปจนถึงหลักการสร้างความสับสน และการกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง การสร้างความเท็จให้เป็นความจริง ซึ่งตรงนี้อันตรายต่อสังคมและผิดกฎหมายด้วย - ขณะนี้บนโลกโซเชียลที่มีการโต้กันไปมา ซึ่งไม่ได้แค่เรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่มีการดึงกองทัพ รวมถึงสถาบันเข้ามาพูดถึงด้วย มองว่าปรากฏการณ์นี้บอกอะไรได้บ้าง บ่งบอกว่าการใช้โซเชี่ยลในประเทศไทยยังมีความวุ่นวาย ความไร้กฎระเบียบในการใช้ ซึ่งในหลายๆ ประเทศเขาเริ่มใช้แบบจริงจังมากขึ้น มีการออกกฎหมายควบคุม เพราะเขาเริ่มรู้สึกว่าโซเชียลจะนำไปสู่ความวุ่นวายในทางการปลุกระดมได้ อีกทั้งสื่อมวลชนเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการปลุกระดม และเป็นแหล่งรวมตัวของคนที่คิดแบบเดียวกัน ซึ่งเมื่อคนที่คิดแบบเดียวกันมาอยู่รวมตัวกัน ก็จะทำให้เกิดความอคติไปในทางที่สุดขั้ว และจะมีการปั่น มีการใช้ข่าวปลอม ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องมีหน่วยงานที่ดูแลอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามสื่อเองเป็นตัวที่ยุแยงตะแคงรั่วให้เกิดการแบ่งข้าง สื่อไม่ยึดถือจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าวคือ ได้ข่าวอะไรมาก็ลงไป ใครพูดอะไรด่ากันก็ลง มันจึงกลายเป็นเฮทสปีช ที่สาดกันไปมา ต่างคนก็ต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งเขาพูดอะไร เพราะโซเชียลมีเดียมันปิดกั้นไม่ให้เรารับรู้ความเห็นของคนที่เห็นต่างจากเรา ซึ่งเราเลือกที่จะปิดกั้นเอง เราเลือกที่จะไม่รับสื่อที่ไม่ตรงกับความคิดของเรา ดังนั้นจะต้องมีการจัดระเบียบการใช้โซเชียลมีเดีย อาจจะมีคนจํานวนหนึ่งที่โวยวายว่าถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมก็จำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะเรื่องสื่อ เพราะตอนนี้ไม่มีใครคุมสื่อในโลกออนไลน์ เช่น พวกเพจต่างๆ ที่นำเรื่องจริงและไม่จริงมาเสนอ - เพจที่กล่าวถึงอาจเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ใช่ ตอนนี้บนโซเชียล ใครจะเป็นสื่อก็ได้ ซึ่งเพจเหล่านี้ใช้วิธีดาวกระจาย ใช้เครือข่ายร่วมอุดมการณ์กัน เรื่องนี้ต้องมีคนให้ความรู้ในการเลือกรับสื่อ บางเรื่องเราไม่รู้เราไปแชร์ข่าวเราก็ผิดกฎหมายไปด้วย เพราะเรากลายเป็นเครื่องมือของเครื่องมือของการเมืองคือ การเมืองมีเครื่องมือและเครื่องมือก็มาใช้เราต่อเป็นเครื่องมืออีกที - นักการเมืองในยุค 5G ควรการวางตัวอย่างไร นักการเมืองควรจะพูดอะไรที่สร้างสรรค์ ก่อนเข้ามาเขาบอกอยู่แล้วว่าอาสามาทำเพื่อชาติ ไม่มีใครพูดว่าอาสามาทำเพื่อพรรค แต่จริงๆ เขาทำเพื่อตัวเองและทำเพื่อพรรค ให้พรรคได้ประโยชน์ ดังนั้นการพูดการจาก็ควรคิดให้รอบคอบ สื่อมวลชนก็เช่นกัน ควรคิดเสมอว่าพูดไปแล้วได้ประโยชน์อะไรกับสังคมหรือประเทศชาติหรือไม่ พูดเรื่องสร้างสรรค์ไม่ใช่พูดเรื่องจ้องจับผิดหรือเรื่องทำร้ายกัน อย่างไรก็ดี ผมไม่ได้บอกว่าจะจับผิดไม่ได้ การเล่นเป็นบทฝ่ายค้านนอกสภาก็มีความสําคัญ เพียงแต่ว่าการพูดอะไรต้องมาจากหลักฐาน การกล่าวหากันโดยไม่มีหลักฐานถือเป็นการเล่นเกมสกปรกและไม่ควรจะเกิดขึ้นในยุคที่คนเขาตรวจสอบได้หมดแล้ว ซึ่งหากพรรคการเมืองจะมีการปฏิรูป เรื่องที่ควรปฏิรูปก็คือเรื่องของการสื่อสาร ควรสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อโลกโซเชียล เช่น เรื่องนโยบายควรตั้งนโยบายขึ้นมา และสื่อสารในเรื่องที่มีประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องการโจมตีคู่แข่งและไม่มีหลักฐาน กล่าวหาว่าเขาดีหรือไม่ดีอย่างไร หากมีการพัฒนาในเรื่องนี้คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การเมืองพัฒนาไปได้ ได้ - ประชาชนควรจะระมัดตัวเองอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใช้โซเชียลมาเป็นเครื่องมือ ประชาชนต้องมีสติในการรับข่าวรับข้อมูล เพราะตอนนี้มีการปั่นกระแสมากมาย เราจะต้องแยกอารมณ์ออกจากเหตุผล รู้เท่าทัน คนเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นกลาง ทุกคนมีอคติ ทุกคนสามารถการแสดงความคิดเห็นได้ และเป็นเรื่องดี เพราะการแสดงความคิดเห็นก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว การต่อยอดทางความคิด แต่ต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง และไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ต้องทำด้วยเหตุผล การแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่แค่เราไปเป็นติ่งของคนนั้นคนนี้ แล้วเราก็ละเลยในสิ่งที่คนนั้นทำดีหรือไม่ดีไว้ ดังนั้นพึงระลึกว่าเขาเป็นนักการเมือง เขามีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ และภาษีอากรของประชาชน เราต้องมองประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก ไม่ใช่มองประโยชน์ของตัวบุคคลหรือของพรรค ประเทศชาติสำคัญมากกว่าตัวบุคคล หรือพรรค อย่างไรก็ตามประเทศชาติจะเจริญได้ประชาชนต้องปรองดองและสามัคคีกัน - การใช้โซเชียลมีเดียที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งจนถึงหลังการเลือกตั้ง วันนี้มองว่าการใช้โซเชี่ยลในทางการเมืองโตขึ้นหรือมาไกลมากน้อยแค่ไหน โตขึ้นมาก เพียงแต่ความโตของมันมีการเปลี่ยนแปลงมีพลวัต คือมีการเคลื่อนไหวทั้งที่เห็นได้ และเห็นไม่ได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราต้องตามให้ทัน เราอาจรู้สึกว่าเฟสบุ๊กมีผู้ใช้เยอะมากที่สุด แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ การปั่นกระแสที่ง่ายที่สุดคือในทวิตเตอร์ เพราะทวิตเตอร์คือแหล่งรวมของวัยรุ่น และการใช้ทวิตเตอร์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนก็ได้ ดังนั้นเป็นใครก็ได้ที่สร้างกระแส สร้างแฮชแท็กขึ้นมาแล้วก็ต่อยอดไปสู่สื่อจริง สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นๆ ดังนั้นเราต้องตามให้ทัน ต่อไปอาจจะมีความเปลี่ยนแปลงทางโซเชียลอีกมากมายที่เราไม่รู้ อย่างเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามาทำหน้าที่กำหนดอัลกอริทึ่มสามารถส่งข้อมูลให้กับคนที่ยังลังเลอยู่กับเรื่องนี้ ประเด็นนี้ ซึ่งตรงนี้ทางการเมืองสามารถนำมาใช้ได้ แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าเราต้องเปิดใจให้กว้างรอบด้าน ต้องไม่ตัดสินใครจากสิ่งที่เราเห็นในโซเชียลของเราเอง เพราะตัวเรามีอคติและก็รับอยู่แค่ในวงที่แอลกอริทึมเลือกให้ ว่าเราสนใจแบบนี้ ซึ่งความจริงแล้วโลกมันมีหลายวงที่เรายังไม่รู้ว่าคนอื่นเขาคิดอย่างไร เพราะเราไม่เคยสนใจ ดังนั้นต้องศึกษาและพูดคุย มีการวางแผนที่ชัดเจน และใช้โซเชียลด้วยสติและบนพื้นฐานของจริยธรรมของผู้ใช้สื่อทุกๆ คน เรื่อง : พัชรพรรณ โอภาสพินิจ