หลังจากคนในวงการไข่ไก่ต้องแบกรับภาระขาดทุนมานานกว่าปีครึ่ง ราคาไข่ไก่ที่ฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 2.50 บาท ในวันนี้ ก็ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐ และทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมไก่ไข่ ทั้งเกษตรกรกลาง จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่รวมพลังสร้างเสถียรภาพไข่ไก่อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าราคานี้จะไม่สูงจนทำให้เกษตรกรมีกำไรมากมาย แต่ถือว่าช่วยต่อลมหายใจของคนในวงการไก่ไข่ให้มีกำลังใจในการทำอาชีพนี้ต่อไป เรื่องนี้ต้องยกให้เป็นผลงานของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช ที่มอบนโยบายการแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ที่ถูกต้อง เหมาะสม ยุติธรรม มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรรายกลางและรายย่อย ที่จับมือกันเดินหน้าแก้ปัญหา และมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่ติดตามดำเนินการอย่างใกล้ชิด ด้วยหลักการ “ขอความร่วมมือ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของรัฐ และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค” ทั้งนี้ สังวาลย์ สยาม นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ได้วิเคราะห์ว่า การแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มาตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา โดยเริ่มกันที่ต้นเหตุของปัญหา ที่สามารถเห็นผลชัดและรวดเร็วที่สุด ด้วยการขอความร่วมมือจากผู้เลี้ยงช่วยกัน ลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรง ตามอายุการเลี้ยง ไม่ให้เลี้ยงลากยาวเกินอายุปลดระวาง เพื่อลดปริมาณผลผลิตไข่ไก่สะสมที่ล้นตลาดในทันที โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นครั้งล่าสุดที่กรมปศุสัตว์ขอความร่วมมือเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ขนาด 2 แสนตัวขึ้นไป ช่วยกันปรับลดจำนวนไก่ไข่ยืนกรง 4,000,000 ตัว แต่วิธีนี้ลดปริมาณไข่ได้แค่บางส่วน เพราะยังมีไข่ส่วนเกินที่ล้นตลาดอยู่อีกมาก กรมปศุสัตว์จึงออกมาตรการเสริม โดยร่วมกับสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ตลอดจนผู้ประกอบการรายใหญ่ ในการผลักดันการส่งออกไข่ไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามแผน PS Support มาตั้งแต่เดือน เม.ย.61 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปี ทำให้สามารถรวบรวมไข่ไก่สดส่งออกไปขายในต่างประเทศแล้ว 138 ล้านฟอง และยังสามารถเปิดตลาดสิงคโปร์เพิ่มอีก 49 ล้านฟองต่อเดือน จากเดิมที่ส่งออกในตลาดฮ่องกงอยู่แล้ว นอกจากนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพไข่ไก่อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผู้นำเข้าและเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) และปู่ย่าพันธุ์ (GP) ปู่ย่าพันธุ์ ทั้ง 16 บริษัท ได้ร่วมกันลดจำนวน PS ให้เหลือ 460,000 ตัว และลดจำนวน GP ให้เหลือ 3,800 ตัว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เพื่อให้ประเทศไทยมีแม่ไก่ไข่ยืนกรง 50 ล้านตัว ที่ให้ผลผลิตไข่ไก่วันละ 40 ล้านฟอง ซึ่งเป็นจุดสมดุลกับการบริโภคของคนไทย ล่าสุดจากการสำรวจแม่ไก่ยืนกรงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไทยมีไก่ยืนกรงอยู่ที่ 46 ล้านตัว ท่ามกลางความร่วมมือฝ่าฟันปัญหาครั้งนี้ มีแนวคิดของนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ สุเทพ สุวรรณรัตน์ ที่น่าสนใจ ด้วยการขอความร่วมมือในการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ โดยการจัดการปริมาณพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ PS ให้เหมาะสม จากบริษัทผู้ประกอบการที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ PS ที่ต้องรวมตัวกันหันมานำเข้าและเลี้ยงไก่ปู่ย่าพันธุ์ GP เอง เพื่อการผลิตพ่อแม่พันธุ์ PS สำหรับใช้เองในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ต้องผูกอนาคตไว้กับต่างชาติ ช่วยประหยัดเงินตราไม่ให้รั่วไหลออกนอกประเทศ เป็นการสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของประเทศ และช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทย เรื่องนี้ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะไทยมีผู้นำเข้า GP อยู่ 1 รายที่สามารถผลิต PS ได้เอง แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าการผลิต PSไม่ใช่เรื่องง่าย และแตกต่างจากการเลี้ยงไก่ทั่วไปก็ตาม แต่เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมไก่ไข่ย้อนหลังไป 10 ปี ก็จะถึงบางอ้อว่าทำไมต้องทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะเหตุการณ์วิกฤติไข้หวัดนกในสหรัฐฯ ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่สหรัฐฯเคยพบมา เมื่อปี 2558 ทำให้ไทยต้องชะลอการนำเข้า PS จากสหรัฐฯและประเทศแถบยุโรปอีกหลายประเทศ ส่งผลให้ไก่ PS ลดลง กระทบปริมาณไข่ไก่ในประเทศอย่างหนัก หากแต่ที่ผ่านมาที่ไม่มีใครลงทุนเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ GP เพราะต้องลงทุนค่อนข้างสูง มีกระบวนการเลี้ยงยากลำบาก การดูแลบริหารจัดการละเอียดกว่าการเลี้ยงทั่วไปมาก การให้ผลผลิตต่ำกว่าไก่ไข่ปกติที่เลี้ยงกัน ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะเกินความสามารถของเกษตรกรไทย ยิ่งเมื่อมองไปที่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ที่มีหลายบริษัทที่ลงทุนนำเข้าและเลี้ยงไก่พันธุ์ GP เพื่อผลิตไก่ PS และประสบความสำเร็จอย่างดีก็มีให้เห็นมากมาย วันนี้ขอแค่ทั้งอุตสาหกรรมร่วมมือร่วมใจและตกลงกันให้ดี เชื่อว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรมให้กับทุกบริษัทและเกษตรกรทุกคน และวิธีนี้น่าจะเป็นอีกทางออกของการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไก่ไข่ไทย