วันที่ 15 เม.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ(ปช.) กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองว่า พรรค ปช.และหลายพรรคการเมืองรอความชัดเจนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่จะประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในวันที่ 9 พ.ค.ที่จะถึงนี้ก่อน ต้องรอดูว่ากกต.จะแจกใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ให้พรรคใดบ้าง เพราะมีผลได้ผลเสียต่อการจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า พรรค ปช.ไม่มีงูเห่าแน่นอน และขอเตือนใครหรือพรรคใดคิดจะเป็นงูเห่านั้น ถือเป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง เพราะประชาชนฉลาดรู้ทัน ทั้งนี้หากมีการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะไม่เลือกอย่างแน่นอน ส่วนกรณีกกต.มีมติเอกฉันท์ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น หลายพรรคไม่ถูกใจกับการดำเนินการดังกล่าว แต่คงประเมินแล้วว่าหากตัดสินใจอย่างไรก็คงจะเกิดปัญหา ยิ่งช่วงนี้กกต.ทำอะไรก็ผิดไปหมด จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ตีความเรื่องนี้ก็ได้ หัวหน้าพรรคประชาชาติ(ปช.) กล่าวถึงกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เสนอเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า การเสนอรัฐบาลแห่งชาติหลังการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาไม่ถึง 30 วันคงไม่เหมาะสม พรรคการเมืองยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย และเชื่อว่าประชาชนคงไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกัน โดยการตั้งรัฐบาลแห่งชาติควรจะเหมาะสมกับสถานการณ์อื่นที่เหมาะสมมากกว่าปัจจุบัน ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ(ปช.) กล่าวถึงกรณีข้อสนอรัฐบาลแห่งชาติ ว่า ในส่วนตัวและพรรคปช.ไม่เห็นด้วย เพราะการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่ทราบเลยว่าพรรคการเมืองใดได้ ส.ส.ทั้ง 2 ระบบจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจาก กกต.จะต้องมีกระบวนการ เช่น ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ใบดำ ที่จะมีผลอย่างยิ่งกับ จำนวนน ส.ส. และการพิจารณา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ กกต.ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้หลักเกณฑ์ใด แม้จะมีกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้ว ขณะนี้ กกต.ยังส่งเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ที่สำคัญรัฐบาลแห่งชาติ กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจไว้ ตามระบบเลือกตั้ง เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มีความยืดหยุ่น มีหลักการในการแก้ปัญหา หลักการประชาธิปไตยเป็นหลักสากล แม้ประเทศที่แตกต่างทางศาสนา เช่น พุทธ อิสลามในอินโดนีเซีย คริสต์ในยุโรป และฮินดูในอินเดีย ก็ยังปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันช่วงหาเสียงเราเรียกร้องให้ประชาชนเกิดความสามัคคีปรองดองไม่ขัดแย้งกับ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าถ้ามีความขัดแย้งทางการเมือง ต้อง แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เมื่อทราบผลเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากกว่า 251 เสียงเป็นรัฐบาลทุกคนไม่ต้องกังวล “สิ่งที่กังวล มีเสียงมากกว่า 376 เสียง การเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎร มากกว่า 251 เสียง มิเช่นนั้นการบริหารประเทศจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะถ้ามีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.งบประมาณเข้าสภา แล้วมีเหตุผลไม่ดีพอจะถูกไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้ ทางฝ่ายการเมืองเมื่อรู้ผลเลือกตั้ง ควรหันหน้ามาคุยกันว่าจะทำอย่างไรที่จะออกจากความขัดแย้งได้ เพราะช่องทางประชาธิปไตยก็มี ดังนั้นการเสนอรัฐบาลแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามหลักการของประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เมื่อพรรคการเมืองเสนอนโยบายรัฐบาลกับประชาชนแล้ว จึงควรให้กระบวนการประชาธิปไตยแก้ปัญหาเสียก่อน”พ.ต.อ.ทวี กล่าว