"พปชร."แย้มหลัง 9 พ.ค.ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ลั่นพรรคเล็กหนุน"บิ๊กตู่"เป็นนายกฯต่อ "ธนกร" ข้องใจ"หญิงหน่อย-ภูมิธรรม"ดิ้นยิ่งกว่า"มิ่งขวัญ"แจงปมงูเห่า "วีระ"ซัด"พล.อ.ประยุทธ์"ใช้อำนาจ"ม.44" เอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้กับกลุ่มทุนมือถือ ชี้เป็นการกระทำเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่า"ยุคทักษิณ" ด้าน"อิทธิพร"ลั่น กกต.กล้าหาญพร้อมถูกตรวจสอบจากทุกหน่วยงานปมถูกร้องถอดถอน - ฟ้อง ม.157 ไม่มองเป็นการขู่ แต่เป็นสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่าง ส่วนปมบัตรนอกราชนิวซีแลนด์ สั่งสอบเพิ่ม เอาตัวต้นเหตุมารับผิดชอบ "พื่อไทย"ซัด กก.คำนวณ ส.ส.ส่อมีวาระซ่อนเร้น หวั่นการเมืองตกสู่หลุมดำ "ปชป."ติง กกต.โยนเผือกให้ศาล รธน. ทั้งๆที่เป็นแค่เรื่องการนับคะแนน ืขณะที่ดุสิตโพลเผยฯ ประชาชนอยากรดน้ำดำหัว"ลุงตู่"วันสงกรานต์มากที่สุด "ธนาธร"ติดอันดับ 2 "ทักษิณ"มาอันดับ 3 อึ่งไร้ชื่อ"มาร์ค"ติดโผ! เมื่อวันที่ 14 เม.ย.62 นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าพรรคพลังประชารัฐ สามารถรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ว่า ไม่ทราบว่ากระแสข่าวดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร แต่คงต้องรอกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองหลังวันที่ 9 พ.ค. จึงจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนการเจรจาพูดคุยนั้นเป็นเรื่องปกติที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคจะมีการพูดคุยกันบ้าง กับพรรคเล็กๆ ตนก็เจอกันบ้าง เพราะส่วนใหญ่ก็รู้จักมักคุ้นกัน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกัน และส่วนใหญ่ก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำงานต่อ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมที่สุด "ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่านายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ อยู่ระหว่างเจรจากับพรรคพลังประชารัฐนั้น นายมิ่งขวัญได้ออกแถลงการณ์ชัดเจนแล้วว่า ไม่เคยเจรจากับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นเรื่องแปลกว่า คนที่กระสับกระส่ายมากกว่านายมิ่งขวัญ กลับเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาพูดแทนทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคของตัวเองเลย ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคุณหญิงสุดารัตน์ จึงยังใช้วาทกรรมสืบทอดอำนาจอยู่อีก ขอให้อย่าพยายามสร้างความขัดแย้งหรือแบ่งข้างประชาชนอีกเลย เมื่อเลือกตั้งจบแล้วก็รอจัดตั้งรัฐบาล ทุกอย่างก็จบ" นายธนกร กล่าว วันเดียวกัน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ Veera Somkwamkid โดยตั้งหัวข้อว่า "ประยุทธ์ทำเรื่องเลวร้ายยิ่งกว่ายุคทักษิณ" โดยระบุว่า นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 ก่อนวันหยุดยาวถึงวันที่ 16 เม.ย.62 เป็นการใช้อำนาจหลังการเลือกตั้ง ซึ่งในอนาคตหากเกิดความเสียหายอะไรขึ้นมา จะไปเอาผิดเอาโทษกับประยุทธ์ไม่ได้ ถือเป็นการใช้อำนาจที่มัดมือชกคนทั้งชาติ กรณีการเอาผลประโยชน์โดยมิชอบไปเอื้อให้กับนายทุน ซึ่งไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ไม่สมควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 กับกรณีเหล่านี้แต่อย่างใด ควรให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ ที่สำคัญให้ตัวแทนประชาชนเป็นผู้ร่วมพิจารณาตัดสินใจ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาตินับหมื่นล้าน ใช้อำนาจตัดสินใจโดยคนๆเดียว ทำอย่างรีบเร่งหมกเม็ด ไม่มีความโปร่งใส ที่สำคัญการกระทำในครั้งนี้จะเป็นตัวอย่างที่ให้คู่สัญญากับรัฐในอนาคตนำมาอ้างเพื่อขอให้รัฐช่วยเหลือชดเชยให้เขาหากเขาทำธุรกิจเจ๊งเอง จะเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมขึ้นอย่างแน่นอน ใช้จังหวะชุลมุนช่วงสงกรานต์ เอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้กับกลุ่มทุนมือถือ อ้างว่าเพื่อช่วยTV digital ที่ขาดทุน แต่กลับเอื้อประโยชน์โดยมิชอบให้กับบริษัทมือถืออย่างเกินความจำเป็นและอย่างไม่สมควรอย่างยิ่ง แถมประเคน 5G ให้แบบไม่ต้องประมูลอีกในอนาคต ทั้งที่ธุรกิจมือถือยังไม่ได้ขาดทุนแต่อย่างใดเลย การขยายเวลาชำระหนี้ให้รัฐแล้วยังใจดีไม่คิดดอกเบี้ยเสียอีก เลือกปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ธุรกิจอื่นๆไม่ได้รับความเป็นธรรม รัฐบาลได้ทำลายความเป็นธรรมในสังคมลงด้วยตัวของรัฐเอง "การกระทำดังกล่าวของประยุทธ์ ทำให้รัฐและประชาชนต้องสูญเสียเงินนับหมื่นล้านบาทที่ควรได้ และปัญหาความไม่เป็นธรรมที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต ทั้งหมดนี้ต้องไปฟัง มุมมองประธาน TDRI ที่พูดเกี่ยวกับกรณีนี้อย่างชัดเจนตรงไปตรงมา แล้วท่านจะเข้าใจเองว่า ความเสียหายที่ประยุทธ์ทำในวันนี้ เลวร้ายมากกว่าที่ นายทักษิณ ชินวัตร ทำในอดีตเพียงใด" นายวีระ ระบุ ด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ว่า ตนรับทราบข้อร้องเรียนดังกล่าว และเคารพในทุกความเห็นของทุกคนอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ตนเคยพูดถึงความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้จะพูดถึงความกล้าหาญที่จะถูกตรวจสอบ ยืนยันว่าเราทำงานด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้พิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร ส่วนการที่มีผู้ยื่นถอดถอนต่อป.ป.ช. และขู่ว่าจะฟ้องคดีอาญา มาตรา 157 นั้น ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นการขู่แต่อย่างใด แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ที่มีความเห็นต่าง ทั้งนี้อยากให้มองว่าการทำงานของกกต.เป็นข้อผิดพลาด หรือเป็นความผิด โดยตนพร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานทุกหน่วยหากมีการเรียกกกต.เข้าชี้แจง ซึ่งผลการพิจารณาขึ้นอยู่กับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง นายอิทธิพร กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบข้อเท็จจริงกรณีบัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์ว่า กกต. ได้รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุความล่าช้าของการส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนจากนิวซีแลนด์ที่มาไม่ทันการนับคะแนนแล้ว แต่ได้มอบหมายให้สำนักงานกกต.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากอะไร และมีผู้ใดบ้าง ที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีนี้ ซึ่งการหาผู้รับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ และถ้ามีผู้ต้องรับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้เบื้องต้นได้รับทราบว่าถุงเมล์ที่บรรจุบัตรเลือกตั้งจากกรุงเวลลิงตัน ต้องมาถึงให้ถึงแอร์นิวซีแลนด์ตามกำหนด แต่เกิดเหตุความล่าช้า ขณะเดียวกันเมื่อมาถึงแล้ว มีเหตุอะไรที่ไม่สามารถนำไปส่งทัน ในสถานที่นับคะแนนกลางได้ซึ่งจะรอความชัดเจนจากการดำเนินงาน ติดตามตรวจสอบจากสำนักงานกกต. ให้หาข้อเท็จจริงถึงความผิดพลาด ขณะเดียวกันก็เป็นดุลพินิจของสำนักงานกกต.ว่าหากพบผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ เช่นการเสนอให้องค์กรที่เกี่ยวข้องตั้งกรรมการสอบ ส่วนทางด้าน นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม ว่าที่ ส.ส.เขต 7 อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เกิดเรื่อง ประหลาดขึ้นในสังคมไทย คือ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. มาตรา 128 , 129 เขียนถ้อยคำไว้ชัดเจน ไม่มีความซับซ้อนเข้าใจง่าย นักกฎหมายโดยทั่วไปเข้าใจได้ ประกอบกับ กกต.ผู้ทรงเกียรติก็ล้วนเป็นนักกฎหมายใหญ่หลายคน แต่แปลกใจทำไมต้องใช้ตรรกะ ตั้ง 3 แนวทางมาคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ คือ ตรรกะคณิตศาสตร์ ตรรกะรัฐศาสตร์ และตรรกะกฎหมาย ทั้งที่เป็นตรรกะกฎหมายล้วนๆ "สถานการณ์นี้อาจทำให้ประเทศตกสู่หลุมดำทางการเมืองทางการบริหาร ไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย คือ ต้องเอาจำนวนคะแนนทั่วประเทศ? 35,532,647 คะแนน?หารด้วย 500 เขต ซึ่งก็คือตัวเลขที่จะกำหนด สส.พึงมีของแต่ละพรรค หากพรรคใด มีคะแนนทั้งพรรคไม่ถึงจำนวนนี้ ย่อมไม่ใช่พรรคที่จะมี ส.ส.ได้เล?ย ง่ายๆอธิบายได้ไม่ซับซ้อน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะพยายามคิดให้ซับซ้อนไปเพื่อเหตุผลใด หรือจะมีวาระซ่อนเร้น ประการใดหรือไม่" นายเกรียงศักดิ์ กล่าว ขณะเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเรื่องการนับคะแนนว่า กกต. ต้องพิจารณาเองก่อนว่าสิ่งที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมีความก้ำกึ่ง หรือ ข้อขัดแย้งในทางกฎหมายจนถึงขั้นที่จะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือยัง หรือ การที่กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น เพราะกกต.ไม่มั่นใจในการตีความ และการทำงานของตนเองถึงส่งและโยนภาระหน้าที่ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ "เพราะสิ่งที่มีปัญหาอยู่ในตอนนี้ คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีสิ่งที่ขัดอยู่กับรัฐธรรมนูญ และถ้าทั้งสองอย่างขัดหรือแย้งกันเราสามารถส่งประเด็นนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่สิ่งที่กกต. ส่งไปไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นความขัดหรือแย้งกันระหว่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญ แต่กลับส่งไปเป็นเรื่องของการนับคะแนนของพรรคการเมืองว่าแบบนี้จะทำได้หรือไม่ ซึ่งในที่สุดแล้ว ตนก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร แต่จะติดตามประเด็นนี้เพื่อความชัดเจนต่อไป" นายนิพิฏฐ์ กล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สวนดุสิตโพล ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ จำนวนทั้งสิ้น 1,206 คน ระหว่างวันนี้ 9-13 เม.ย. ซึ่งสรุปผลได้ว่า สิ่งที่ประชาชนเป็นห่วงหรือกังวลในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มากที่สุดคือเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน 68.62% รองลงมาคือเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ การใช้จ่ายในช่วงเทศกาล 31.63% อันดับ 3 เรื่องการดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท และการล่วงละเมิดทางเพศ 30.78% ขณะที่คำอธิษฐานหรือพรที่ประชาชนอยากขอในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ 48.88% ขอให้มีแต่สิ่งดีๆ ครอบครัวประสบความสุข อันดับ 2 ขอให้เศรษฐกิจดี ค้าขายดี 32.68% อันดับ 3 ขอให้บ้านเมืองสงบสุข 26.54% ส่วนนักการเมืองที่ประชาชนอยากรดน้ำดำหัวมากที่สุด อันดับ 1 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 34.51% อันดับ 2 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 24.84% และอันดับ 3 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และค่าใช้จ่ายที่ประชาชนเตรียมไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายต่อ 1 คนประมาณ 5,000-10,000 บาท 47.76% บอกว่าเท่าเดิม ขณะที่อีก 30.60% มีค่าใช้จ่ายลดลง และ 21.64% มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น