"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"พระราชทานความห่วงใยการสูญเสียช่วงเทศกาลสงกรานต์ รับสั่งผ่าน"บิ๊กตู่" กำชับทุกหน่วยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด "ศปถ."เผยผ่าน3วันตายแล้ว 174ศพ ระบุ"เมาแล้วขับ"สาเหตุหลัก "เมืองคอน"เกิดอุบัติเหตุสะสมและตายมากที่สุด ส่วน 17 จังหวัดการตายเป็นศูนย์ ขณะที่"คสช."แจง 3วันยึดรถแล้ว2,294คัน เมื่อวันที่ 14 เม.ย.62 พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยเรื่องการสูญเสียของประชาชนจากอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยทรงรับสั่งผ่านมายัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เจ้าหน้าที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร และจิตอาสา ร่วมกันอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และรณรงค์ลดอุบัติเหตุให้ได้เช่นเดียวกับในหลายจังหวัดที่มีสถิติการสูญเสียเป็นศูนย์ ทั้งนี้ พระองค์ท่านทรงเน้นว่าให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการในทุกมิติ เพื่อลดอุบัติเหตุและการสูญเสียให้ได้โดยเร็ว และหากต้องการขอรับการสนับสนุนสิ่งใดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้แจ้งไปยังรัฐบาลได้ทันที รองโฆษกฯ กล่าวอีกว่า นายกฯย้ำว่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้โดยได้กำชับให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม วันเดียวกัน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนน หือ ศปถ. ประจำวันที่ 13 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 700 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้บาดเจ็บ 733 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 42.71 , ขับรถเร็ว ร้อยละ 26.14 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.08 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 66.43 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.29 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.00 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 32.43 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 21.75 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,042 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,444 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,023,123 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 226,655 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 63,196 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,520 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ น่าน และอุดรธานี (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (33 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 3 วัน (11 - 13 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 1,665 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 174 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,728 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (10 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (69 คน) ขณะที่ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จากมาตรการดื่มไม่ขับ จับยึดรถเมื่อวันที่ 13 เม.ย. พบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์ พบการกระทำความผิด 32,772 ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถจักรยานยนต์ไว้ 973 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 24,866 คนสำหรับรถโดยสารสาธารณและรถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 25,446ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบขับขี่ไว้ 1972 คน ยึดรถยนต์ 330คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 15,049 คน โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา (11 - 13 เม.ย.) ตรวจพบผู้กระทำผิด 98,808 คน เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับไว้แล้ว 2,294 คัน (รถจักรยานยนต์ 1,685คัน และรถยนต์ 609 คัน ) และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในส่วนรถจักรยานยนต์ 44,024 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 27,283คน