ยังคงเป็นปัญหา พาไปสู่วิกฤติในหลายพื้นที่โลก แม้กระทั่งในไทยเรา สำหรับ “มลภาวะทางอากาศ” ที่กำลังอาละวาดมานานนับเดือน จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ สร้างความวิตกกังวลแก่ภาคส่วนต่างๆ จนต้องออกมาส่งเสียงเพรียกเตือน ล่าสุด “สถาบันผลกระทบต่อสุขภาพ” หรือเอชอีไอ (Health Effects Institue)” ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ “มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย” ในประเทศแคนาดา ตีพิมพ์บทรายงาน “ภาวะอากาศโลก” ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของมลภาวะทางอากาศต่อสุขภาพประชาคมโลก โดยอ้างอิงถึงการศึกษาวิจัยของ “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่คนไทยเรียกกันติดปาก “ฮู” ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติถึงสิ้นปี 2560 มาประกอบ และใช้เป็นการศึกษาวิจัยครั้งนี้ด้วย กระทั่งได้ผลออกมาว่า วิกฤติจากมลภาวะอากาศ พ่นพิษพิฆาตชีวิตมนุษย์เรา คือ เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควรของมนุษยโลก ในระดับร้ายแรงที่สุด ถึงอันดับ 5 เลยทีเดียว ซึ่งทางคณะผู้วิจัยบอกว่า ยิ่งกว่าไข้มาลาเรีย ทุพพโภชนาการหรือขาดอาหาร การดื่มสุรา หรือแม้กระทั่งอุบัติเหตุจราจรบนท้องถนน ที่หลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยเรา หวาดกลัวกันเสียอีก ใช่แต่เท่านั้น “อากาศพิษ” ยังเป็นปัจจัยปลิดชีวิตเด็กน้อยที่เกิดในวันนี้ หรือห้วงเวลาที่กำลังเผชิญวิกฤติมลภาวะอากาศ ในแบบ “เพชฌฆาตเงียบ” ที่ทำให้มี “อายุขัยสั้นลง” แทนจะมีอายุยืนยาวต่อไปอย่างที่ควรจะเป็น จนน่าเป็นห่วงอีกต่างหากด้วย รายงานของผลการศึกษาวิจัย ก็ระบุว่า เด็กๆ ทั่วโลกอายุขัยสั้นลงเฉลี่ยแล้วก็ 20 เดือนด้วยกัน โดยพื้นที่ หรือภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็ได้แก่ “เอเชียใต้” อันประกอบด้วย อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล เป็นต้น เด็กๆ มีอายุขัยสั้นลงเฉลี่ยแล้วถึง 30 เดือน เพราะเจอพิษภัยของมลภาวะอากาศทั้งนอกบ้าน จากควันรถตามท้องถนน ควันจากโรงอุตสาหกรรม และทั้งในบ้าน จากควันไฟที่มาจากการหุงต้มปรุงอาหารที่ใช้เตาถ่าน หรือฟืน เป็นต้น เด็กๆ ในอินเดียกับมลภาวะทางอากาศที่เข้าขั้นวิกฤติ รองลงมาก็เป็นย่าน “เอเชียตะวันออก” ที่เด็กๆ อายุสั้นลง 23 เดือน วิกฤติมลภาวะทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเยาวชนในจีนแผ่นดินใหญ่ ส่วนที่น้อยที่สุด ได้แก่ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในพื้นที่บางส่วนของเอเชีย – แปซิฟิก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และในพื้นที่ของทวีปอเมริกาเหนือ อย่างสหรัฐฯ และแคนาดา ที่อายุเด็กสั้นลงเฉลี่ย 20 สัปดาห์ กิจกรรมปลูกต้นไม้ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยแก้ไขวิกฤติมลภาวะทางอากาศ พร้อมกันนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัย ยังสะกิดเตือนด้วยว่า สาเหตุที่มลภาวะอากาศมีผลกระทบต่อเด็กๆ อย่งน่าสะพรึงเช่นนี้ ก็เพราะว่าภูมิคุ้มกันทางร่างกายของเด็กๆ ยังน้อยอยู่ นั่นเอง สุขภาพจึงอ่อนแอ เมื่อได้สูดเอาอากาศที่สกปรก ปนเปื้อนพิษ หรือเชื้อโรค เข้าสู่ร่างกาย สอดรับกับผลการศึกษาวิจัยของ “ดับเบิลยูเอชโอ” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค.ปลายปีที่แล้ว พบว่า มลภาวะอากาศที่เป็นพิษต่อร่างกาย ได้คร่าชีวิตเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลก จำนวนกว่า 600,000 คน ในแต่ละปี แม้การศึกษาวิจัยหนนี้มุ่งไปที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กๆ แต่ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยก็บอกว่า ผู้ใหญ่ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะที่ผ่านๆ มา อากาศพิษก็ปลิดชีวิตไปจำนวนไม่น้อยในแต่ละปีเช่นกัน โดยคิดเป็นจำนวนนับล้านทั่วโลก เฉพาะที่อินเดีย กับจีน ก็คิดเป็นจำนวนถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว พร้อมระบุตัวเลขที่ จีนแผ่นดินใหญ่ หนึ่งในพื้นที่เผชิญกับวิกฤติมลภาวะทางอากาศหนักที่สุดของโลก ก็มีจำนวนมากถึง 852,000 คนแล้ว ส่วนที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพก็มีจำนวนกว่า 452 ล้านคน เช่นเดียวกับ อินเดีย ที่นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนนับล้านคนแล้ว ก็ยังผู้มีปัญหาสุขภาพอันสืบเนื่องจากวิกฤติมลภาวะทางอากาศจำนวนถึง 846 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ประเทศ ที่ติดในกลุ่มเดียวกับอินเดีย และจีนแผ่นดินใหญ่ ที่เผชิญชะตากรรมเดียวกัน หนักหนาสาหัสไล่ๆ กันได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ และอินโดนีเซีย เยาวชนในประเทศแห่งหนึ่งภูมิภาคเอเชียใต้ ที่ออกมารณรงค์ให้แก้ไขมลภาวะทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยมิได้แสดงให้เห็นแต่ด้านมืดเชิงลบแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังบอกถึงด้านบวก แบบสร้างความหวังชี้ให้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เอาไว้ด้วย โดยได้กระตุ้นเตือนให้เป็นภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลของประเทศต่างๆ ดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่บอกแต่เพียงคำว่า ขอโทษ หรือแสดงความเสียใจอะไรทำนองนั้น ซึ่งหากสามารถคลี่คลายวิกฤติลงได้ จนสภาพอากาศปรับระดับค่ามาตรฐานตามที่ทาง “ฮู” กำหนดได้เมื่อไหร่ เด็กๆ เหล่านี้ก็จะมีอายุขัยยืนยาวยืดออกไปได้ โดยมีตัวเลขการประเมินว่า ถ้าเป็นที่บังกลาเทศเด็กๆ ก็จะอายุขัยเพิ่มออกไปได้ 1.3 ปี หรือ 1 ปี 3 เดือน ขณะที่ อินเดีย ปากีสถาน และไนจีเรีย ก็จะเห็นเด็กมีอายุขัยเพิ่มออกไป 1 ปี เป็นบำเหน็จรางวัลอันชวนให้ปลื้มใจไม่น้อยทีเดียวเชียว