วันนี้ ( 13 เมษายน 2562 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื่องในเทศกาลสงกรานต์หรือป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองของชาวไทยล้านนา ปู่ ย่า ตา ยายหรือผู้อาวุโสในบ้านหรือในหมู่บ้าน จะชักชวนลูกหลานในตระกูลร่วมการ แป๋งไม้ก้ำศรี ( สะ-หรี ) หรือทำไม้ค้ำศรี เพื่อนำไปค้ำต้นโพธิ์ ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่าต้นศรี,สรี ( สะ-หรี ) เพื่อเป็นการเสริมสิริมงคลและทำให้ชีวิตมั่นยืนยาวตามคติความเชื่อของคนเหนือ ไม้ค้ำศรี หรือไม้ค้ำสะหรี ทำมาจากไม้ง่ามจะเป็นไม้อะไรก็ได้ ขนาดเท่าไหร่ก็ได้ แต่โดยมากจะมีความยาวประมาณเท่าความสูงของเจ้าของไม้ศรีหรืออยู่ที่ความพึงพอใจของคนทำ นำมาปลอกเปลือกแล้วทาด้วยกาวจากแป้งเปียก จากนั้นก็นำกระดาษสีสันต่างๆมาตัดแปะ ส่วนลวดลายและสีสันบนกระดาษจะเน้นสีสันที่ฉูดฉาดตัดกัน นายหาญ ธรรมโม อายุ 68 ปี เปิดเผยว่า ในทุกๆวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ลูกหลานจากต่างจังหวัดมาถึงวันทั้งชลบุรีและนครพนม ถึงพยายามถ่ายทอดเรื่องศิลปวัฒนธรรม วัตรปฏิบัติของลูกหลานชาวเหนือ โดยจะสอนทำขนมจ๊อกหรือขนมเทียน และการตกแต่งไม้ศรี เพื่อให้เขาได้ซึมซับวัฒนธรรมของบรรพชนของเหนือเพื่อจะได้ไม่สูญหายไปในอนาคต ด.ญ.ณัฐกานต์ ธรรมโม อายุ 9 ปี ซึ่งเดินทางจาก จ.นครพนมมาเยี่ยมปู่หาญทุกปี เปิดเผยว่า รู้สึกสนุกมากเมื่อมาเที่ยวหาปู่หาญ เพราะได้มีกิจกรรมสนุกสนาน เช่น การทำขนมเทียน การทำไม้ก้ำศรีและการนำไม้ก้ำศรีหรือตุงไปถวายที่วัด เพราะที่อิสานไม่มีประเพณีแบบนี้ ซึ่งก็ตรงกันกับความรู้สึกของ ด.ญ.กันติชา ทาทาน อายุ 14 ปี ที่กล่าวว่า ทุกๆปี ครอบรัวของพวกเราจะมีกิจกรรมที่สนุกๆร่วมกันทั้งทำขนมและทำไม้ค้ำศรี ทำให้เกิดความรักใคร่กลมเกลียวในในวงศ์ญาติอย่างแน่นแฟ้น ถึงเทศกาลสงกรานต์เมื่อไหร่ก็อยากให้ญาติๆได้มาพบกัน มาพูด มาคุย มาทำกิจกรรมร่วมกันเมื่อต้องกลับภูมิลำเนาเดิมเราก็คิดถึงกันและรอวันที่จะกลับมาพบกันอีกครั้งในสงกรานต์ปีต่อๆไป