คุยเฟื่องเรื่องต่างประเทศ/ดร.วิวัฒน์ เศรษฐช่วย ก่อนอื่นผมใคร่ขอชี้แจงถึงเจตนารมณ์ในการเขียนคอลัมน์นี้ขึ้นมา ก็เพื่อต้องการถ่ายทอดสิ่งดีๆของผู้นำหลายๆคนและระบบการเมืองสหรัฐฯที่น่าชื่นชม เนื่องจากเรื่องราวเหล่านั้นผมถูกบ่มเพาะมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม ทั้งนี้เมื่อปี 1787 คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 55 คนที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และครั้งนั้นพวกเขาคงจะคาดการณ์ไม่ถึงว่า “อนาคตในภายภาคหน้าจะมีอาวุธนิวเคลียร์อันแสนจะร้ายแรง คาดการณ์ไม่ถึงว่ามนุษย์จะมีโอกาสขึ้นยานอวกาศไปเหยียบพื้นผิวดาวอื่นๆนอกโลก และคงจะคาดการณ์ไม่ถึงอีกด้วยว่าอิทธิพลของโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบันนี้จะมีความเข้มข้นร้ายแรงมากที่สุด” อีกทั้งคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญคงจะมิได้คาดการณ์เลยว่าสหรัฐอเมริกาจะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจที่สุดในโลก และคงไม่เคยคิดเลยว่าจะเกิดการขัดแย้งระหว่างสภาคองเกรสและประธานาธิบดีกันอย่างดุเดือดเข้มข้น โดยเป้าหมายหลักๆของคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ต้องการเพียงถ่วงดุลให้ทั้งฝ่ายบริหารและสภาคองเกรสมีอำนาจเท่าเทียมกัน อนึ่งตอนที่ “จอร์จ วอชิงตัน” ได้รับเลือกให้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกเมื่อปีค.ศ. 1789 สหรัฐฯมีกองกำลังทหารเพียง 718 คน มีปืนใหญ่เป็นอาวุธเพียงไม่กี่กระบอก และการคมนาคมในสมัยนั้นใช้เพียงม้าและเรือ และถึงแม้ว่าคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาขัดแย้ง โดยสร้างอำนาจถ่วงดุลระหว่างสองขั้วอันได้แก่ประธานาธิบดีและสภาคองเกรสเอาไว้แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากประธานาธิบดีบางคนและผู้คนรอบข้างมีความคิดแสนจะพลิกแพลงต้องการทำเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงกฏกติกาที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญแสดงเจตนารมณ์เอาไว้ จึงมีผลทำให้เกิดวิกฤติการณ์ขึ้นเป็นประจำ!!! คราวนี้ลองหันมาดูกันว่า เมื่อปี 2018 ที่เพิ่งผ่านมานี้ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อเสียงโด่งดังหนึ่งร้อยคนได้ออกมาทำการจัดอันดับผู้นำของสหรัฐฯที่มีมาทั้งหมด 43 คนว่า“ประธานาธิบดีท่านใดคือผู้นำที่ดีที่สุด” โดยพวกเขานำเอาปัจจัยต่างๆมาประกอบและวัดจากมาตรฐาน 10 ประการอันได้แก่ มีความเป็นผู้นำ มีความสามารถในการกล่าวถ้อยคำจูงใจ มีความสามาถในการแก้ปัญหาวิกฤติ มีความสามารถบริหารเศรษฐกิจ มีความสามารถทางด้านการต่างประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อสภาคองเกรส มีทักษะในการบริหารที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม และเหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมีศีลธรรมประจำใจ!!! “C-Span” ก็คือองค์กรสื่อมวลชนที่ไม่หวังผลกำไรก่อตั้งขึ้นเมื่อสี่สิบปีก่อน ซึ่งได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากคนอเมริกันชนเป็นอย่างมาก ได้มอบหมายให้นักประวัติศาสตร์ชื่อดังหนึ่งร้อยคนทำการศึกษาและจัดอันดับของประธานาธิบดีทุกๆคน ยกเว้นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากเขายังอยู่ไม่ครบวาระสี่ปี และล่าสุดเมื่อปีกลายผลปรากฏออกมาว่า อันดับหนึ่งก็คือ “ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น” เนื่องจากมีความเก่งกาจทางด้านการแก้ปัญหาวิกฤติ มีศักยภาพในการบริหารประเทศ มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และสร้างความยุติธรรมในวงสังคมให้เท่าเทียมกัน อันดับสองได้แก่ “ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน” ผู้ที่มีความเป็นหนึ่งทางด้านศีลธรรมและการบริหารเศรษฐกิจ อันดับสามได้แก่ “ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี.รูสเวลท์” โดดเด่นทางด้านการต่างประเทศและมีพรสวรรค์ในการกล่าวชักจูงคน สำหรับประธานาธิบดีที่มีชีวิตอยู่กล่าวคือ “ประธานาธิบดีบารัก โอบามา” อยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านการสร้างความเสมอภาคของคนภายในชาติ และ “ประธานาธิบดีบิล คลินตัน” อยู่ในอันดับที่ 15 เนื่องจากมีความโดดเด่นทางการการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และจากผลการหยั่งเสียงล่าสุดที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่เพิ่งผ่านมาปีนี้ ซึ่งมีนักรัฐศาสตร์ 200 คนได้จัดอันดับประธานาธิบดีทุกๆคน ที่ครั้งนี้มีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รวมอยู่ด้วย และผลปรากฏออกมาว่า ผู้ที่อยู่ในอันดับหนึ่งถึงอันดับสามยังคงอยู่ในอันดับเดิมๆไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นที่น่าสนใจว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้รับความนิยมสูงขึ้นถึงสี่อันดับอยู่ในอันดับที่ 8 แต่ดูเหมือนว่าการจัดอันดับในครั้งนี้ประธานาธิบดีที่ถูกจัดให้อยู่รั้งท้ายในอันดับที่ 44 ตกไปอยู่ที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเสียงส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นเหมือนกันว่าเขาคือ ประธานาธิบดีที่สร้างความแตกแยกให้เกิดในวงสังคมทั้งในและนอกประเทศมากที่สุด และถึงแม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะถูกจัดให้อยู่ในความนิยมในอันดับสุดท้ายก็ตาม แต่เพราะเหตุใด? และทำไม?ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงทุกวันนี้ อันดับแรก เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์มีพรสวรรค์พิเศษทางด้านการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเขามักจะใช้ทวิตเตอร์เป็นอาวุธโจมตีใครก็ตามที่เขาไม่ชอบขี้หน้า จนมีผลทำให้นักการเมืองต่างเกรงกลัวอิทธิพลของเขามากทีเดียว ปัจจัยที่สองประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับความชื่นชมจากฐานการเมืองปีกขวา ปัจจัยที่สาม วุฒิสภาซึ่งเป็นสมาชิกของพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากเหนือวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต 53 ต่อ 47 ซึ่งมีผลทำให้ทุกๆอย่างอยู่ในกรอบที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการ ปัจจัยที่สี่ วุฒิสมาชิกลินเซ่ย์ แกรม ที่เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับประธานาธิบดีทรัมป์ตลอดมา แต่กลับปรากฏว่าขณะนี้วุฒิสมาชิกแกรมกลับลำหันไปเป็นพันธมิตรที่ดีกับประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแข็งขัน อีกทั้งเขายังเป็นประธานคณะกรรมมาธิการตุลาการที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวุฒิสภา ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัดที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ โดยสภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติ 420 ต่อศูนย์ ให้ผลสรุปรายงานของอัยการมุลเลอร์ถูกเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่กลับปรากฏว่า วุฒิสมาชิกลินเซ่ย์ แกรม ออกมาบล็อกมติของสภาผู้แทนราษฎรจนมีผลทำให้มติที่เป็นเอกฉันท์ต้องกระเด็นตกไป!!! ปัจจัยที่ห้าได้แก่ มร.วิลเลียม บาร์ รัฐมนตรียุติธรรมผู้ที่ประธานาธิบดีทรัมป์แต่งตั้งขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ได้กลายเป็นกระบอกเสียงคนสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์อย่างแข็งขัน จนมีผลทำให้เขาปิดปากเงียบไม่ยอมเปิดเผยผลสรุปฉบับบสมบรูณ์ของอัยการพิเศษโรเบิร์ต มุลเลอร์ ออกสู่สายตาสาธารณชนตราบเท่าทุกวันนี้ สร้างความอึดอัดหนักอกต่อทีมงานของอัยการพิเศษมุลเลอร์ที่ข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับรัสเซียเข้ามามีบทบาทแทรกแซงผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ต้องถูกดองเอาไว้ไม่ยอมนำมาเปิดเผย!!! อย่างไรก็ตามขณะที่นักการเมืองทั่วไปต่างปิดปากเงียบไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การกระทำทุกๆอย่างของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ได้มีนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ไฟแรงจุติขึ้นมาซึ่งเธอผู้นั้นก็คือ “อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ คอร์เตซ” อายุ 29 ปี ส.ส.ที่มีอายุน้อยที่สุด มีฝีปากจัดจ้านที่สุด และขณะนี้เธอยังได้กลายเป็นที่นิยมชมชอบของคนอเมริกันทั่วไปมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น เนื่องมาจากการที่เธอมีความกล้าออกมาประกาศโต้ตอบท้าทายประธานาธิบดีทรัมป์ในทุกๆเรื่อง ทั้งนี้และทั้งนั้นหากจะกล่าวโดยสรุปถึงคุณสมบัติทั้ง 10 ประการของการเป็นผู้นำที่ดีข้างต้น ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักในการครอบครองใจประชาชน และเมื่อดูๆไปแล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขาดคุณสมบัติดังกล่าวเกือบทุกๆข้อ เนื่องมาจากเขาพยายามกระทำทุกๆอย่างเพื่อความอยู่รอดในการที่จะตื๊อดื้อดึงนั่งครองอยู่ในตำแหน่ง จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่เขาจะได้รับอันดับความนิยมบ๊วยรั้งท้ายที่สุดละครับ