แสงแดดที่สาดส่องลงมาจากพระอาทิตย์ที่ทำงานอย่างหนักโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดพัก ทำให้อุณหภูมิโดยรอบ โดยเฉพาะภายในเต็นท์เข้าแถวรายงานตัวบัณฑิตของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชปีนี้ร้อนระอุ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รอยยิ้มบนใบหน้าของ “ศักดิ์ศรี โพนทอง” บัณฑิตรัฐศาสตร์ วัย 42 ปี เลือนหายไปแต่อย่างใด แววตาของเขากลับเปล่งประกายแสดงออกให้เห็นถึงความสุข ความภาคภูมิใจที่จะได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร หลังจากที่ทุ่มเทความพยายาม วิริยะ อุสาหะ มานะ อดทน มากว่า 8 ปี ภายใต้ระบบการศึกษาทางไกล ที่เปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ วันนี้ศักดิ์ศรีขอลางานนายจ้าง ที่ต้องวางแผนเก็บสะสมวันหยุด ทำเรื่องลาล่วงหน้าข้ามปี บินมาจากสิงคโปร์ เพื่อมาสัมผัสบรรยากาศแห่งความสำเร็จที่เขาเฝ้ารอมานาน ซึ่งอดีตประธานชมรมนักศึกษา มสธ.สิงคโปร์ ก็เคยเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมแสดงความยินดี กับเพื่อนๆ ในมาแล้วในปีก่อนๆ แต่คราวนี้เป็นคิวของเขาเสียที และแน่นอนว่า มีทั้งเพื่อนที่ยังทำงานอยู่ที่นั่น รวมทั้งคนที่กลับมาประเทศไทยแล้วเดินทางมาจากจากทั่วสารทิศเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งในวันแสนภาคภูมิใจวันหนึ่งของเขา เส้นทางชีวิตของศักดิ์ศรี มีอะไรให้เราเรียนรู้มากมาย ภายใต้หน้าเปื้อนยิ้ม กับแววตา และน้ำเสียงที่จริงใจ ชายผู้นี้ผ่านอะไรมามากเหลือเกิน เขาเป็นลูกชายที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เขาเป็นคนธรรมดาที่ต้องต่อสู้ชีวิตท่ามกลางโอกาสที่จำกัด ด้วยทางเลือกที่มีไม่มากนัก ศักดิ์ศรีตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางของ “การขายแรงงาน” และที่ซึ่งคนขายแรงอย่างเขาจะสามารถมีรายได้เพียงพอเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองกับคนที่บ้านได้ก็มีไม่มาก นั่นทำให้ชะตาชีวิตของเขาพาเขามาระหกระเหินไกลถิ่นเกิดอยู่ที่สิงคโปร์นานถึง 18 ปี เมื่อเทียบอายุของเขาที่เพิ่งอยู่ในวัยสี่สิบต้นๆ มันนานเสียจนเขาเองก็ไม่คุ้นชินกับอะไรหลายๆ อย่างที่บ้านเกิดเมืองนอนแห่งนี้ไปเสียแล้ว กลุ่มเพื่อนที่ได้ช่วยเหลือกันที่สิงคโปร์ต่างเดินทางมาร่วมแสดงความยินดี ศักดิ์ศรีเกิดเมื่อปี 2520 ที่จังหวัดหนองคาย แต่ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬ หลังจากปลดประจำการทหารเกณฑ์ ก็ออกมาหางานทำโดยในช่วงแรกเป็นเด็กปั๊มอยู่ 2-3 เดือน ระหว่างนั้น พ่อก็ได้ยินจากคนที่เข้าไปหาแรงงานตามหมู่บ้านว่ามีช่องทางสำหรับการไปทำงานต่างประเทศได้ ก็สนใจ โดยเริ่มเข้ามาในระบบของนายหน้าเอกชน แต่ก็ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกอย่าง ซึ่งเขาบอกว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมด 6 หมื่นบาทถ้วน ไม่ต้องเสียอะไรอีกแล้ว ราคานี้สำหรับการดำเนินการเพื่อไปงานต่างประเทศได้เลย โดยหากใครที่ไม่มีเงินเขาก็มีสินเชื่อให้กู้ ศักดิ์ศรีเริ่มต้นจากการเรียนช่างเหล็กอยู่เกือบ 2 ปี ที่ศูนย์ฝึกอบรมในจังหวัดอุดรธานี และที่ลาดพร้าว เพราะช่วงที่เป็นทหารเกณฑ์ในสังกัดกองทัพเรือนั้น ได้อยู่หน่วยทหารช่างเลยได้มีวิชาติดตัวมาบ้าง การมาเรียนหรืออบรมนั้นมีค่าใช้จ่ายต้องจ่ายก่อน 2.5 หมื่นบาท ก็เรียนจนกว่าจะสอบผ่าน สอบผ่านในที่นี้คือจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสิงคโปร์มาทดสอบฝีมือแรงงาน เพื่อคัดเลือกเอาบุคลากรที่ได้มาตรฐานเข้าไปทำงานในประเทศของเขา ซึ่งศักดิ์ศรีเองไม่ประสบความสำเร็จในครั้งแรก ก็ต้องกลับมาลงเรียนที่อุดรฯ ซ้ำอีก จุดนี้ในเวลาต่อมาเจ้าตัวมองว่า เป็นเรื่องโควตาด้วย ไม่ใช่ว่าใครทำได้ดีหรือไม่ดี ทำได้หรือไม่ได้ เพราะตัวเขาเองมั่นใจว่าทำได้ทุกอย่าง แต่ตอนนั้นก็จะมีคนที่มีงานทำอยู่แล้ว มาเข้าสอบคัดเลือกให้ถูกต้องตามกฎระเบียบกฎหมาย คนกลุ่มนี้ก็จะได้ไปก่อน แต่คนอื่นๆ หากใครยังสู้ต่อเขาก็จะดูๆ เอาไว้ หลังจากสอบรอบสองและผ่านแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เดินทางไปทำงานทันที เขารออยู่ถึง 5-6 เดือนจนเกือบจะถอดใจ ไปติดต่อขอหนังสือเดินทางคืน เพราะตั้งใจว่าจะเปลี่ยนไปทำงานบนเรือแล้ว แม้พ่อจะอยากให้ไปสิงคโปร์มากกว่า เพราะเกรงว่างานบนเรือจะอันตราย กระนั้นเมื่อไปติดต่อนายหน้าจัดหางาน เขาก็เรียกเงินเพิ่มหากจะเอาหนังสือเดินทางคืน และตอนนั้นก็ได้เสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเตรียมตัวเช่นค่าตรวจร่างกายอะไรไปหมดแล้ว ที่สุดแล้วก็ได้เดินทาง โดยก่อนจะไปก็ต้องเข้ารับการอบรมจากกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ทราบแนวทางการปฏิบัติตัว รวมทั้งช่องทางการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ศักดิ์ศรีไม่เพียงแต่เป็นอดีตประธานชมรมนักศึกษามสธ.สิงคโปร์ เขายังเป็นอาสาสมัครช่วยงานของหน่วยงานรัฐบาลไทยในหลายโอกาส ล่าสุดเป็นอาสาสมัครดูแลการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากวันที่สอบผ่าน รอเดินทางมันนานเกือบครึ่งปี ศักดิ์ศรีมาทราบทีหลังว่าเป็นเพราะ มันไม่มีงาน เลยไม่ได้ไปเสียที นี่เป็นเรื่องราวเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ที่ต้องยอมรับว่าการคอร์รัปชั่น เอารัดเอาเปรียบมันแทรกซึมอยู่ทั้งระบบ มีทั้งการขายโควตา การเรียกเก็บเงินจิปาถะเพิ่มเติม กว่าจะได้เดินทางจริงๆ จากยอดค่าใช้จ่ายที่เคยบอกว่า 6 หมื่นจบ วันนี้ยอดหนี้ของเขาทะลุขึ้นเป็น 1.3 แสนบาทในช่วงเวลานั้น การไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงไว้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งคนอย่างเขา และแรงงานคนอื่นๆ ที่หวังไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าไกลบ้านต้องทำใจยอมรับ และทำใจให้ชินกับมันให้ได้ เริ่มตั้งแต่การเดินทางที่ในสัญญาระบุว่าจะเดินทางด้วยเครื่องบิน แต่เอาเข้าจริงเขานั่งรถไฟจากอุดรฯ มากรุงเทพฯ ต่อไปยังหาดใหญ่ ก่อนจะขึ้นรถทัวร์ที่นั่นไปสิงคโปร์ รอบนี้ศักดิ์ศรีมีเพื่อนร่วมชะตากรรมเป็นชายวัยใกล้เกษียณอีกคนที่ด้วยสังขารแล้วน่าจะถึงวัยใกล้ได้พัก แต่กลับต้องมาเสี่ยงชะตาเพราะความจนมันไม่เคยปราณีใคร ซ้ำร้ายยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อีก นายหน้าคนไทยพามาส่งแค่ชายแดนสิงคโปร์ ยังไม่ได้ข้ามไป ต้องรออยู่ตรงบริเวณกลางสะพาน ที่ไม่มีอะไรเลย ห้องน้ำก็ไม่มี ที่มีในมือก็คือเอกสารที่เรียกกันว่า “เวิร์คขาว” เป็นสำเนา กับหนังสือเดินทางของเรา ขณะที่ สัญญาจ้างที่ประทับตราจากเมืองไทยตอนนี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้ว เดินทางมาถึงจุดนี้ตอนตี 2 คนที่มารับมาถึง 8 โมงเช้า ก็ผ่านพิธีตรวจคนเข้ามาเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานเรียบร้อย ทว่านายจ้างไม่ใช่นายจ้างที่ระบุไว้ เหมือนเรากลายเป็นคนของเอเยนต์ทางฝั่งนั้นไปแล้ว ให้เขาเอาเราไปขายอีกที แต่ก็ยังถือว่าถูกกฎหมาย ทำงานได้ ไม่ชอบใจนายจ้าง หรืองานก็เปลี่ยนได้ในทางทฤษฎี แต่สมัยนั้นปัญหาเยอะมาก ปัจจุบันรัฐบาลสิงคโปร์ก็ได้ตัดระบบเอเยนต์แบบนี้ออกไปแล้ว รวมทั้งคนงานที่อยู่ไม่ครบสัญญาจ้างก็สามารถตัดออกไปได้เลยด้วย เหยียบแผ่นดินสิงคโปร์วันแรก เอเยนต์ก็พาไปตรวจร่างกายอีกครั้ง เพราะที่ทำมาจากประเทศไทยใช้ไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีงานเลย ก็มานั่งรอที่สำนักงาน ไม่มีที่พักด้วย ตกเย็นเขาก็ให้เพื่อคนงานไทยมาพาไปนอนที่แคมป์ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ดำรงชีวิตเลย โชคดีมาเจอคนไทยมาจากบ้านเดียวกัน เขาก็หาข้าวให้กิน หาที่นอนให้นอน เป็นอยู่แบบนั้นเป็นเดือน คือมีกระเป๋าหนึ่งใบติดตัวไปตลอด ไปนั่งรองานที่ออฟฟิศเอเยนต์ ไม่มีงาน แต่ต้องซื้อข้าวกินทุกวัน ตอนนั้นกินบะหมี่ชามละ 2 เหรียญประทังชีวิต เงินก็มีจำกัดเหลือติดตัวไปไม่กี่พันแล้ว เอเยนต์ก็พาไปตะเวนตามแคมป์ต่างๆ ในที่สุดก็ได้งาน แม้ว่างานที่สอบผ่านมาได้ จะเป็นช่างเหล็ก แต่ในสัญญาเป็นงานฝ้า แต่เอาเข้าจริงแล้วงานแรกที่ได้ทำคืองานไฟฟ้า เพรามีเถ้าแก่มาถามว่าทำอะไรได้บ้าง ดูจากหน่วยก้านแล้วเขาก็ว่าจะให้แบกหามด้วย แต่นาทีนั้นจะงานอะไรก็ต้องทำก่อนแล้ว เพราะเงินก็จะหมด หนี้ที่เป็นอยู่ดอกเบี้ยก็งอกเงยทุกวัน ชีวิตการทำงานของศักดิ์ศรีในสิงคโปร์ ได้งานแรกเป็นช่างไฟฟ้า อยู่แผนกตัด เจาะ กระแทก เดินสายไฟฝังซีเมนต์ ก็สบายระดับหนึ่ง มีข้าวกินอิ่ม มีที่นอน ทำงานไปก็เริ่มซื้อเครื่องนอน เครื่องครัว มามีปัญหาก็เรื่องค่าแรงที่ได้อยู่ 23 เหรียญ (ดอลลาร์สิงคโปร์) ต่อวัน ทั้งๆ ที่ในสัญญาที่มาจากไทยระบุว่าต้องได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 25 เหรียญ แต่เมื่อนายจ้างจ่ายเท่านี้ก็ต้องตามนี้ ถ้าไม่เอาก็ต้องกลับ เขาก็ส่งเราคืนเอเยนต์ ตอนนั้นเงินเดือนหาได้ 600 กว่าเหรียญ ต้องส่งกลับมาใช้หนี้ 400 กว่าเหรียญ ใส่บัญชีไปแต่เอทีเอ็มอยู่ที่นายหน้าไทย พ่อก็มารับเงินทุกเดือนได้เดือนละ 1 พันบาท ทำแบบนี้อยู่ 7 เดือนจนหมดหนี้ 1.3 แสน พ่อก็ได้บัตรเอทีเอ็มคืน คือชีวิตตอนนั้นทำทุกอย่าง งานกลางคืน งานแอบทำ มีงานที่ไหนรับทำหมด เพราะอยากปลดหนี้ให้ได้ไวๆ ทว่า เมื่อหนี้หมดงานก็หมดด้วย ก็ต้องกลับไปนั่งรองานที่สำนักงานอีกครั้ง ตอนนั้นมีคนไทยมาขอลาออกจากนายจ้างเดิมเพราะบอกว่าเงินเดือน 600 เหรียญเขาอยู่ไม่ได้ ความที่รอมา 15 วัน ศักดิ์ศรีไม่มีทางเลือกงานอะไรก็ต้องทำไปก่อน งานนี้เป็นงานปาร์เก ค่าแรงวันละ 21 เหรียญ ทำ 15 วันแรกเขาก็ยังไม่จ่ายเงิน โชคดีที่มีคนไทยที่อยู่ด้วยกันช่วย แต่เมื่อทำจนหมดสัญญาเขาก็จ่ายเงินให้จนครบ สรุปว่าทำปาร์เกอยู่ปีกว่า จนหมดสัญญา 2 ปี ก็กลับมาเมืองไทย เดินเรื่องใหม่ เข้าวงจรเป็นหนี้ใหม่ แต่รอบสองนี้ยอดหนี้ลดลงแล้ว เพราะตัดไปหลายกระบวนการ มารอบนี้ได้งานดีหน่อย มีงานไปจากไทยแล้ว เป็นงานหมู่บ้านจัดสรร แต่ก็ไม่ได้เหลือเงินเก็บเลยเพราไม่มีโอที ทำโอทีไม่ได้ คนสิงคโปร์ที่อยู่บ้านจัดสรรได้คือคนรวยจริงๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี เสียงดัง กลิ่นเหม็น อะไรนิดหน่อยเขาก็ร้องเรียนแล้ว ดังนั้นวันอาทิตย์ก็ทำงานไม่ได้ หลัง 6 โมงเย็นก็ทำงานไม่ได้ เลยไม่มีโอที ชีวิตการทำงานของศักดิ์ศรีในสิงคโปร์ หลังจากหมดสัญญารอบสอง ก็กลับมาใหม่ จบจากงานก่อสร้างก็กลับมาทำงานปาร์เกอีกครั้ง รอบนี้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็น 28 เหรียญ เพราะทำอะไรเป็นหมดแล้ว ก็ได้ไปทำโชว์รูม แฟลชรูม อันนี้ได้เงินดี แต่ก็ทำได้ปีเดียวเพราะคิดว่าไม่ไหว เนื่องจากต้องดมทินเนอร์ทุกวันซึ่งอันตรายต่อสุขภาพ อยู่หากินในสิงคโปร์มา 18 ปี เปลี่ยนงานมาเรื่อยๆ ถามว่าได้กลับบ้านบ้างหรือไม่ ศักดิ์ศรีตอบว่ากลับบ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่บ่อยนัก เพราะไม่ใช่จะลากลับไปได้ง่ายๆ และหากไม่ได้ทำงานก็ไม่ได้เงิน เนื่องจากค่าแรงที่ได้เป็นค่าแรงรายวัน ทำให้กลับมาบ้านมารับปริญญารอบนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ต่างๆ มากมาย ไปพบเจอเพื่อนแรงงานที่เคยอยู่สิงคโปร์มาด้วยกัน หลายๆ คนเขาก็ทำงานส่งเงินมาบ้านจนซื้อที่ซื้อทางตั้งหลักได้ ส่งลูกเรียนหนังสือจบเขาก็กลับมาอยู่บ้านเกิด เปิดธุรกิจเล็กๆ กันก็พออยู่ได้ ส่วนตัวเองตอนนี้ที่บ้านมีพี่สาว กับพ่อ แล้วก็มีที่ดินอยู่นิดหน่อย ซึ่งสัญญาของตนจะหมดในเดือนพฤษภาคมนี้แล้ว จนตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ต่อสัญญาหรือไม่ จะกลับไปอีกหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าเราอยากต่อสัญญา แต่ก็ไม่ได้ขึ้นกับเราอย่างเดียว มันต้องดูว่ามีงานไหมด้วย ซึ่งงานปัจจุบันที่ทำอยู่เป็นงานเกี่ยวกับซ่อมเครื่องยนต์ ที่จริงก็มีประกาศปิดแผนกมาแล้ว แต่ว่ายังมีออเดอร์เข้าก็เลยยังต้องทำอยู่ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันเขาก็ไม่ได้จ้างคนเพิ่มแล้ว คือว่ามีคนออกก็ไม่จ้างเพิ่ม ทุกวันนี้ทั้งแผนกก็เหลือกันอยู่ 3 คน กิจกรรมรับน้อง และปฐมนิเทศนักศึกษามสธ. ที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ ความในใจของคนไกลบ้านบอกเราว่า แท้จริงแล้วศักดิ์ศรีก็อยากกลับบ้าน กลับมาทำเกษตรผสมผสานบนที่ทางของครอบครัว แม้ว่าผืนดินจะแห้งแล้ง ถ้าทำนาก็ได้แค่ปีละหน ให้คนมาดูตาน้ำเพื่อขุดบาดาล ที่ทั้งแปลงก็มีตาน้ำแค่จุดเดียว บวกกับความที่จากบ้านไปนาน ก็รู้สึกเหมือนไม่คุ้นชินกับตรงนั้นเสียแล้ว อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวมากหน่อย และที่สำคัญเลยก็คือ ใจที่ยังหวั่นไหวกับความไม่แน่นอนในอนาคต หากตัดสินใจไม่ไปต่อที่สิงคโปร์ แล้วกลับบ้านมาครั้งนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ข้างหน้าบ้าง แม้จะสั่งสมประสบการณ์มากมายจากการไปทำงานในต่างแดน ผ่านงานมาทุกประเภท เรียกว่าตอนนี้ให้ทำอะไรก็ทำได้หมด เลยตั้งใจว่านอกจากทำเกษตรแล้ว หากกลับมาก็อยากจะทำอู่รับซ่อม มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่ก็ยังต้องเป็นเรื่องที่ต้องคิดอีกมาก ถามว่าด้วยอายุของศักดิ์ศรี กับศักยภาพที่เขามียังสามารถสู้ต่อในต่างแดนได้อีกหลายปีหรือไม่นั้น เจ้าตัวกล่าวเพียงว่า ทุกวันนี้อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว มันเปลี่ยนไปมาก เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านี้สมัยรัฐประหาร 2549 มีคนไทยทั้งแรงงาน นักเรียน นักศึกษา คนอยู่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์กว่า 4 หมื่นคน แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 4 พันกว่าคนเท่านั้น ในภาคแรงงานเองที่ลดจำนวนลงไปมากก็เป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นสำคัญ ที่ต้องการลดการใช้แรงงาน เพราะประเทศเขาก็พัฒนาไปมาก แรงงานทักษะเดิมๆ ก็ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายมานานแล้ว ที่ผ่านมาแรงงานที่จะได้รับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานจะต้องผ่านการสอบวัดระดับ ซึ่งต้องแสดงออกให้เห็นพัฒนาการว่ามีมากขึ้นกว่าเดิม เช่นปีนี้ทำได้ 2 อย่าง ครั้งต่อไปทำอะไรได้มากขึ้น ตลอดจนเรื่องภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ซึ่งในจุดนี้มีเครือข่ายคนไทยที่ช่วยเหลือกันรวมตัวกันในรูปแบบของสมาคมที่ชื่อว่า “สมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์” มีที่ตั้งอยู่ที่อาคารโกลเดนไมล์ คอมเพล็กซ์ ที่นอกจากจะเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของคนไทยไกลบ้าน ซึ่งมักจะทำกิจกรรมร่วมกัน ประสานความร่วมมือทั้งกับหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนชุมชนคนไทยที่นั่นแล้ว ที่นี่ยังมีหลักสูตรฝึกอบรมทักษะเพื่อช่วยพัฒนายกระดับทักษะต่างๆ ให้แก่แรงงานไทยด้วย อีกประการหนึ่ง หากพูดกันถึงเรื่องค่าแรงแล้วแม้แรงงานไทยจะเป็นแรงงานมีฝีมือ เป็นแรงงานคุณภาพ แต่ค่าแรงก็ไม่ถูก ปัจจุบันนี้แรงงานจากอินเดีย และบังคลาเทศก็เข้ามาทำงานในสิงคโปร์มากเหมือนกัน แต่ก็ไม่ต่างกันนักก็ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ งานหมด หมดสัญญา ก็ส่งออก วันนี้ส่งคนออกมากกว่ารับเข้า สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า โอกาสที่เคยมีมันก็ลดลงไปมาก ศักดิ์ศรีเป็นคนขายแรง แต่เป็นคนขายแรงที่ใฝ่รู้ เขาเริ่มลงทะเบียนเป็นนักศึกษา มสธ. ตั้งแต่ปี 2551 แม้ว่าจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสการศึกษาทางไกลตั้งแต่มาอยู่สิงคโปร์ใหม่ๆ แล้ว ทว่าตอนนั้นด้วยกำลังทำงาน ทำให้ยังไม่สามารถมาเรียนในระบบได้ จนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในปี 2559 ใช้เวลาเรียนอยู่ 8 ปีเต็ม “มสธ. เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาส ค่าเทอมก็ไม่แพง 1 เทอมลง 3 วิชาประมาณ 320 เหรียญ หรือ 7 พันกว่าบาทนับมาถูกมาก การเรียนยืดหยุ่น เวลาสอบแต่ก่อนจัดสอบที่สถานทูต แต่ตอนนี้เขาไปเช่าสถานที่เป็นสนามสอบ การเรียนก็แบ่งเวลาตามที่มี ช่วงแรกลำบากมาก ทำงานกว่าจะเลิกสี่ทุ่ม อ่านหนังสือนิดหน่อยก็หลับแล้ว ช่วงเช้าตี 4 ตี 5 ต้องลุกแล้ว ก็อ่านช่วงรอรถมารับ พักเบรกก็อ่าน ว่างตอนไหนก็อ่าน ตอนหลังมีอาจารย์มานิเทศ รองอธิการบดีก็ไป ก็ได้เสนอท่านว่าจะทำเป็น MP3 ได้ไหม จากเทปคลาสเซตก็เปลี่ยนเป็น MP3 ชีวิตก็ง่ายขึ้น ก็ใช้วิธีเปิดฟังเลย ยิ่งตอนหลังมีระบบออนไลน์ ก็สะดวกมากๆ” ในวันที่สิงคโปร์อาจจะไม่ใช่แดนสวรรค์แห่งโอกาสใกล้บ้านของแรงงานไทยอีกต่อไป ไม่เพียงคนขายแรงงานเท่านั้นที่ต้องปรับตัว แม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับ การที่คนไทยน้อยลง แรงงานไทยน้อยลง ก็หมายถึงจำนวนนักศึกษาทางไกลก็ลดน้อยลงด้วย ศักดิ์ศรีบอกเราว่า วันนี้อาจารย์ก็เริ่มจะเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับพื้นที่อื่นที่มีแรงงานไทยไปทำงานกันเยอะอย่างเกาหลีใต้ หรือไต้หวันแล้ว ชมรมนักศึกษา มสธ. สิงคโปร์ ร่วมกับสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์มักจะมีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเสมอ