กนอ.เผยความคืบหน้าประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่3 (ช่วงที่1) ของ“บริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์”คุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคผ่านฉลุย ครบถ้วนตามเงื่อนไขทีโออาร์ คณะกรรมการฯ เดินหน้าเจรจาผลตอบแทนของรัฐบนหลักการที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดคาดกระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จ เม.ย.นี้ พร้อมส่งเรื่องอัยการตรวจร่างสัญญาร่วมลงทุน คาดลงนามได้เดือน มิ.ย.นี้ ดร.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาข้อเสนอการประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ของบริษัทกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และ พีทีที แทงค์ ((บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด) ซึ่งยื่นประมูลเพียงรายเดียวว่า ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) Net Cost อยู่ระหว่างการเจรจาเจรจาข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและผลตอบแทน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดที่ภาครัฐจะได้รับจากการเปิดให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการท่าเรือในระยะ 30 ปีคาดว่าจะสรุปเพื่อประกาศรายชื่อผู้ชนะเพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย.นี้จากนั้นคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมทุนได้ภายในมิถุนายน “เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 กลุ่มกิจการค้าร่วมกัลฟ์และพีทีที แทงค์ ได้ยื่นซองข้อเสนอรายละเอียดทางเทคนิคและเอกสารรายละเอียดด้านราคา ต่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯและต่อมาได้ตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติเป็นไปตามร่างเงื่อนไขสัญญาหรือ TOR แล้วและอยู่ระหว่างเจรจาเงื่อนไขการลงทุนและผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ คาดว่าจะสรุปได้ไม่เกิน เม.ย.นี้จากนั้นคณะกรรมการฯจะส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อตรวจร่างเงื่อนไขสัญญาของโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเข้าพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานได้ประมาณเดือน มิ.ย.2562 นี้” ดร.สมจิณณ์กล่าว สำหรับแผนการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ช่วง รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 55,400 ล้านบาท ประกอบด้วยช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯในครั้งนี้จะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนในครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน450 ไร่ การขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ช่วงที่2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure)กนอ.จะดำเนินการออก ทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายใน ปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า