“ธนชาต”รังสรรค์ปฏิทินประวัติศาสตร์พร้อมฉายภาพยนตร์ได้ด้วยแอปพลิเคชัน “AR Code”ชุด ‘๙ ทศวรรษ ฉัตรชัยประชา’ ผลงานภาพเขียนและประพันธ์บทอาเศียรวาทโดยศิลปินแห่งชาติน้อมรำลึกถึงรัชกาลที่ ๙ และเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๑๐ นายวิชา กุลกอบเกียรติ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปฏิทินกลุ่มธนชาตประจำปี ๒๕๖๐ ชุด ‘๙ ทศวรรษ ฉัตรชัยประชา’ จัดทำขึ้นเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ผู้ทรงคุณอันประเสริฐต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย ยังความวัฒนาสถาพร และความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง และเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธนชาตจะได้ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ทรงคุณค่า น่าจดจำ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดีตราบนิจนิรันดร์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ “ปฏิทินชุดนี้มีความพิเศษในการนำเสนอภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยในรูปแบบมัลติมีเดีย AR Code เพียงแค่สแกนภาพบนปฏิทินด้วยสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต โดยใช้แอปพลิเคชัน Layar ก็จะสามารถรับชมภาพยนตร์ พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านภาพวาดพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันอันวิจิตรของ อ.สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี ๒๕๕๘ และการประพันธ์บทอาเศียรวาทอันล้ำค่าโดย อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี ๒๕๓๖ และกวีรางวัลซีไรต์ ประจำปี ๒๕๒๓ พร้อมการประพันธ์คำอธิบายภาพโดย นายอธิชนัน สิงหตระกูล เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาศิลปวัฒนธรรม ประจำปี ๒๕๕๗ จึงนับเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวของความงดงามด้านวิจิตรศิลป์ วรรณศิลป์ ในรูปแบบของปฏิทินที่งดงามและมีคุณค่าทางจิตใจ ส่งต่อคุณค่าผ่านกาลเวลาด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเทิดทูนดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพยิ่ง” ทั้งนี้การรับชมภาพยนตร์ด้วยเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality คือเทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) ซึ่งจะทำให้ภาพที่เห็นในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติลอยอยู่เหนือพื้นผิวจริง ช่วยให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจในการรับชมข้อมูลทั้งภาพและเสียงมากยิ่งขึ้น และยังเป็นเทคโนโลยีที่กำลังพลิกโฉมหน้าให้กับสื่อยุคใหม่ให้สามารถสื่อสารกับผู้ใช้งานได้อย่างเต็มความรู้สึกมากขึ้นในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟมีเดีย (Interactive Media) โดยแท้จริง ซึ่งเทคโนโลยีนี้สามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS หรือ Android เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Layar จากนั้นสแกนไปที่ภาพในปฏิทินจะปรากฏภาพยนตร์ขึ้น อ.สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์) ประจำปี ๒๕๕๘ เผยความรู้สึกที่ได้บรรจงเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ในปฏิทิน ชุดนี้ว่า ถือเป็นสิริมงคลของชีวิตอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการรังสรรค์ผลงานภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โดยได้ร่วมกับลูกศิษย์บรรจงเขียนภาพด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และตลอดการเขียนภาพจะมีความสุขและอิ่มใจอย่างมาก “เชื่อว่าปฏิทินธนชาตประจำปี ๒๕๖๐ ชุด ‘๙ ทศวรรษ ฉัตรชัยประชา’ จะเป็นหนึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์ ที่จารึกเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในทุกช่วงพระชนมพรรษา และเพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นทรงราชย์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งจะเป็นปฏิทินที่มีคุณค่าทั้งทางกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคุณค่าทางจิตใจกับมหาชนชาวสยามไปตลอดกาล” นายวิชา กล่าวปิดท้าย ปฏิทินธนชาต ชุด "๙ ทศวรรษ ฉัตรชัยประชา" มกราคม : ปฐมกิจมหิตลานุวงศ์ พ.ศ. ๒๔๗๗ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๘ แห่ง พระบรมราชจักรีวงศ์ ในการนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรี นครินทรา บรมราชชนนี ทรงมีบทบาทสำคัญในการอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาให้ทรงความรัก และทรงเอา พระราชหฤทัยใส่ ในการอบรมสั่งสอนทั้งคุณธรรม จริยธรรม ถ่ายทอดพระราชอัจฉริยภาพและพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ให้ทรงพระเจริญสมบูรณ์ด้วยพระสติปัญญา สมพระอิสริยยศ กุมภาพันธ์ : ดำรงอนุชาธิราชวัตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ เสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อ จากนั้น พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงเสด็จนิวัตประเทศไทย โดยครั้งนี้ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจสำคัญพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชา ในการเสด็จเยือนสำเพ็งอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังมีเหตุความไม่สงบเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ เพื่อสร้าง ความปรองดองระหว่างคนไทยและคนจีน มีนาคม : ยุวกษัตริย์เถลิงรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อพระชนมพรรษา ๑๙ พรรษา จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ ในการปกครองประเทศเป็นสำคัญ เมษายน : เคียงราชหฤทัยพระจอมขวัญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาองค์โตของหม่อมเจ้า นักขัตรมงคล กิติยากร และหม่อมหลวงบัว กิติยากร จากนั้นเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย จึงได้ทรงประกอบ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็น องค์ ประธานในพิธี พฤษภาคม : ทรงสรรค์ธรรมราชานุกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่ง มหาชนชาวสยาม” และใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ได้ทรงพระผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการปฏิบัติราชการแผ่นดินแทนพระองค์ มิถุนายน : อารยมิตรราชสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ สำคัญ โดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาอารยประเทศอย่างเป็นทางการ ในฐานะองค์พระประมุขของชาติไทย และฐานะผู้เทนของปวงชนชาวไทย เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรี และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสากล ยังประโยชน์ต่อ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างมิตรประเทศสืบเนื่องยั่งยืนมาจวบจนถึงปัจจุบัน กรกฎาคม : ทั่วธานีประทับรอยพระบาทยาตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงประจักษ์ถึงปัญหาความยากจน ความขาดแคลน ความลำบาก และความด้อยโอกาสของราษฎรในชนบทห่างไกลความเจริญ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ด้วยทรงมีพระวิริยะอุตสาหะที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข และพัฒนา คุณภาพชีวิตให้ราษฎรอยู่ดีกินดีอย่างเท่าเทียมกัน สิงหาคม : จอมปราชญ์ทรงศาสตร์การศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ คุณธรรมของบุคคล ดังนั้น หากต้องการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าก็ต้องเริ่มการพัฒนา บุคคลของชาติให้มีคุณภาพ โดยให้การศึกษา การพัฒนาแก่ประชาชน กันยายน : พัฒนาประชาราษฎร์สุขฟื้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา” ทรงอุทิศพระวรกายปฏิบัติพระราชกรณียกิจ นานัปการ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร และช่วยเหลือราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยโครงการใน พระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ วางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแท้จริงให้แก่ปวงชนชาวไทย ตุลาคม : นิกรชื่นพระบารมีปรากฏ พ.ศ. ๒๕๓๙ รัฐบาลและปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเพื่อถวายเป็นราชสักการะและถวาย พระพรชัยมงคล ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ซึ่งถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลายาวนานที่สุด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร พฤศจิกายน : ยิ่งยศสิริราชสมบัติไพบูลย์ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ถือเป็นมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี นับเป็นระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลก และถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีพระประมุขและผู้แทนพระองค์มารวมกันมากที่สุดถึง ๒๕ ประเทศ เพื่อร่วมถวายพระพร ชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธันวาคม : เทิดทูนรอยยุคลยาทตราบนิรันดร์ นับเป็นความโชคดีของคนไทยและประเทศไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุขของชาติตลอด ๗๐ ปี แห่งการครองสิริราชสมบัติ พสกนิกรชาวไทยได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระผู้เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมแห่งจิตใจของประชาชนไทยทั้งประเทศ และด้วยพระบารมี เราจึงรวมกันอยู่ได้อย่างเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่น มีชาติ มีประเทศ อันตั้งเป็นอิสระเสรีจนถึงทุกวันนี้ แผ่นดินไทยอยู่คู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์มาช้านานนับเป็นหนึ่งสถาบันหลักบนผืนธงชาติไทยที่เราเคารพรักและเทิดทูน เหนือยิ่งสิ่งใด และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไปตราบนิจนิรันดร์