มท.1ประกาศ 4 ข้อหลักยกระดับจัดการน้ำท่วมใหญ่มอบ อธิบดีปภ.”ฟังรบ.ทุกมิติ สั่งตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าฯ “สุราษฎร์ – สงขลา” ให้รองปลัดมหาดไทยฝ่ายมั่นคง ลงบูรณาการคุมพื้นที่ 6ม.ค.60 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ลงนามในประกาศกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ที่1/2560 เรื่องยกระดับการจัดการสาธารณภัยใหญ่ (ระดับ 3) โดยมีเนื้อหาระบุว่า สถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ที่เกิดอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนมากราคม 2560 ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมากนั้น กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้ตรวจสอบแนวโน้มสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) พบว่า สถานการณ์จะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถึงแม้จังหวัดได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งระบบ จากการพิจารณาแล้ว จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2550 ประกอบกับแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 2558 จึงมีประกาศดังนี้ 1.ยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นการจัดการสาธารณภัยใหญ่ขนาดใหญ่ (ระดับ3) ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2558 2.ให้อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง ดำเนินการและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนอำนวยการประสานการปฏิบัติประเมินสถานการณ์ ติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์สถานการณ์ รายงาน และเสนอความคิดเห็น ต่อผบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อพิจารณาสั่งการในเชิงนโยบาย 3.จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ขึ้นที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลา โดยมีนายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ (Area Command) และมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งส่วนราชการต่างๆ ร่วมบูรณาการให้ความช่วยเหลือประชาชน จัดตั้งส่วนสนับสนุนการปฏิบัติการในสภาวะฉุกเฉิน(สปฉ.) ตามที่ผบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเห็นสมควร และ 4.กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ประสานการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยมีหน่วยงานตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ปี 58 ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆแล้ว เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ให้การสนับสนุนนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สนับสนุนทรัพยากรทางทหารและกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรและระบบชลประทาน กรมบัญชีกลาง ขยายวงเงินทดรองราชการ ในอำนาจของผู้ว่าฯสำหรับการให้ความช่วยเหลือ และยกเว้นหลักเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า กระทรวงคมนาคมได้เน้นการรักษาเส้นทางคมนาคมขนส่ง กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการให้ข้อมูลข่าวสารถึงประชาชนอย่างถูกต้องโดยไม่ให้ถูกตัดขาด โดยมีผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เป็นผู้บัญชาการในแต่ละระดับ และให้เครือข่ายมูลนิธิ กู้ภัย อาสาสมัคร รวมถึงเจ้าพนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะยุติ