เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี ความร้อนแรงทางการเมืองในช่วงเดือนเม.ย. นี้ เข้มข้นและเข้าสู่จุดเดือดแทบทะลุพิกัด เมื่อ “คู่ชก”ไม่ได้จับคู่กันเฉพาะ “ฝ่ายการเมือง” ที่พากันเปิดวิวาทะกันเองเท่านั้น หากแต่ยังปรากฎว่า “กองทัพ” ได้ถูกดึงลงมาเป็นอีก “เงื่อนไข” รายล่าสุดโดยปริยาย ! การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็น “ผลพวง” กลับยังไม่ได้คำตอบ แต่ในระหว่างนี้ กลับกลายเป็นว่า ปัญหาจากฝ่ายการเมือง อันเกิดจาก “ความขัดแย้ง” มีแนวโน้มว่าจะบานปลาย ส่งผลกระทบต่อ “ความมั่นคง” อีกทั้งมีการพาดพิง ไปถึงสถาบัน และสิ่งเหล่านี้ นี่เองที่ทำให้ “ผู้นำเหล่าทัพ” ต้องออกแอคชั่น แสดง “จุดยืน” ไปจนถึงขั้น “ตอบโต้” และ “ปราม” ฝ่ายการเมือง อย่างเห็นได้ชัด จะเห็นได้ว่า หลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.เป็นต้นมา “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” ได้ออกมาประกาศจุดยืน แสดงท่าทีต่อการเมืองอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเพื่อ “ดับกระแส” ว่าด้วยของการ “ปฏิวัติรัฐประหาร” 28 มี.ค. กรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย “บิ๊กกบ” พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ “ จุดยืนต่อบทบาทและหน้าที่ในการปกป้องสถาบันหลักของชาติ ของทหารและตำรวจไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ส่วนบทบาทความเป็น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)และความเป็นแม่น้ำ 5 สายจะมีโรดแมปตามระยะเวลา ก็ไม่มีเรื่องใดที่ต้องกังวลการบริหารงานของรัฐบาลในเวลาต่อไปเป็นไปตามตัวบทกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่กำหนด” บิ๊กกบ ตอบข้อถามผู้สื่อข่าว เมื่อถูกถามถึงจุดยืนของกองทัพ พร้อมกันนี้ ยังได้พูดถึงเรื่องรัฐประหาร ที่หลายฝ่ายเกิดความกังวล ว่าหากการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ “ข้อสรุปที่ดี” “เราอย่าไปตั้งเป้าว่าจบไม่ดี คนไทยต้องคิดบวกเราอุตส่าห์เดินทางตามโรดแมปมาถึงขั้นนี้แล้ว จนมีการเลือกตั้งคะแนนก็ได้ผลการเลือกตั้ง ขอให้ กกต. ประกาศยืนยันผลเป็นทางการทุกอย่างก็จะมีการฟอร์มรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่สุดก็จะสามารถมีรัฐบาล ที่ได้เสียงข้างมากจนได้” แอ็กชั่นของกองทัพ ยังกว้างไกลไปถึง “กองทัพภาคที่ 3” ด้วยเช่นกัน เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก “พล.ท. ฉลองชัย ชัยยะคำ” แม่ทัพภาคที่ 3 ได้แถลงท่าทีกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ 17 จังหวัดในภาคเหนือ โดยพล.ท.ฉลองชัย ได้ประกาศนำกองทัพภาคที่ 3 ยืนเคียงข้าง “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ หลังจากที่ถูกโจมตีจาก ฝ่ายการเมือง และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ที่พากันล่าชื่อถอดถอน พล.อ.อภิรัชต์ “ ท่านผู้บัญชาการทหารบกมาโดยการรับราชการ ไม่ใช่มาแบบนักการเมืองจึงจะมาตั้งโต๊ะถอดถอนได้ หรือแม้แต่เมื่อช่วงก่อนหน้านั้นที่มีการชักชวนกันทางสื่อโซเชียลให้ลงชื่อถอดถอนผู้ว่าฯ เชียงใหม่เพราะแก้ปัญหาหมอกควันไม่ได้ ซึ่งมันไม่ใช่และจะทำให้สังคมเราไปสู่การแตกแยก จึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่าอย่าทำเรื่องบิดเบือนให้คนไทยเกลียดชังและขัดแย้งกัน ข้อเท็จจริงวันนี้ ประเทศชาติมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ใครที่เสพสื่อโซเชียลที่ไม่ได้วิเคราะห์ให้ถ่องแท้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จ แล้วคิดว่าโจมตีใครไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งวันนี้ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ส่วนนักศึกษานั้นบางคนก็รับข้อมูลมาจากนักการเมืองรุ่นเก่าๆ บางคนแก่จะลงโลงยังสร้างวาทกรรมบิดเบือน จึงต้องส่งคนไปคุย จะมาบอกว่าคนพิษณุโลกคิดกันอย่างนั้นได้อย่างไร ไม่อยากให้บิดเบือนกัน การบิดเบือนด้วยวาทกรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่บอกว่าเผด็จการถามหน่อยเผด็จการที่ไหนเขาเปิดให้มีการเลือกตั้ง” การที่ “ขุนทหาร” ต้องออกมาแสดงจุดยืน ทั้งต่อการเมือง ไปพร้อมๆกับการปกป้องสถาบันทหารเองนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ความขัดแย้ง” ทางการเมือง ได้ดึงกองทัพลงมาสู่สนามด้วยโดยปริยาย ภายใต้ความเชื่อมั่นว่ากองทัพคือ “ขุมกำลัง” ที่พิทักษ์ และปกป้อง “คสช.” อันนำโดย “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดต นายกฯของ “พรรคพลังประชารัฐ” ปฏิกริยาจาก พล.อ.อภิรัชต์ คือ “จุดพีค” ที่ทุกคนจับตามองมากที่สุด ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง จนอาจยาวไกลไปจนถึงการมีรัฐบาลใหม่ เพราะอย่าลืมว่า พล.อ.อภิรัชต์ คือ “ผบ.ทบ.” ที่ถูกวางตัวเอาให้ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการรับมือกับ “ฝ่ายการเมือง” ไปจนถึง “สถานการณ์” ที่จะหนักหนาสาหัส หลังเลือกตั้งเป็นต้นไป การออกมาแถลงจุดยืนของพล.อ.อภิรัชต์ ด้วยการเปิดหน้าชนกับ ทั้งฝ่ายการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ใครก็ตาม” ที่พาดพิง และจาบจ้วงสถาบันหลักของชาติ เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกระเพื่อมอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะวลีเด็ด “ซ้าย ดัดจริต” อันหมายถึงกลุ่มคน กลุ่มนักวิชาการที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย ต้องการล้มสถาบัน “ขอชื่นชม ประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาเลือกตั้งจำนวนมาก แต่เมื่อเลือกใคร ทำไมนักการเมืองไม่จับมือแล้วไปสู้ในสภา ทำไมต้องเถียงกันให้ชาวโลกนั่งขำเรา และสื่อมวลชนเองก็มาจากหลายสายหลายความคิด ย้อนถามเราอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารด้วยกันทั้งสิ้น เราเป็นคนไทยด้วยกันหรือไม่ กรีดเลือดมาก็เป็นคนไทยทั้งนั้น และกองทัพบกก็ลูกหลานของพวกท่าน ขอร้องสื่อมวลชนช่วยสื่อสารสิ่งเหล่านี้สู่ประชาชน นิสิต นักศึกษา เพราะเราเติบโตที่ประเทศนี้ เรียนที่นี่ รับปริญญาจากพระบรมวงศานุวงศ์ และขอชื่นชมเศรษฐีที่โกง แต่ยอมรับกระบวนการ ทั้งที่มีเงิน มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ขอยกย่อง นี่คือคนมีน้ำใจนักกีฬา ยอมรับกระบวนการตัดสินของกระบวนการยุติธรรมไทย ไม่ใช่ทำอะไรผิดแล้วบอกยอมรับไม่ได้ แล้วจะอยู่กันได้อย่างไร นอกจากนี้ขอร้องนิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ ที่ไปเรียนต่างประเทศ บางท่านได้ทุนราชการ ทุนจากในวัง ซึ่งเรียนระบอบประชาธิปไตยที่ใดไม่ว่า แต่ระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้เขามีวัฒนธรรมของตัวเองแตกต่างกัน เมื่อเราไปเรียนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับประเทศอื่น ขอถาม คสช. เป็นเผด็จการจริงหรือ ไม่อยากจะยกตัวอย่างประเทศอื่นที่เขาเผด็จการจริงๆ นี่คือวัฒนธรรมระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ขอให้รักกันเถิด นำความรู้ระบอบประชาธิปไตยของเขามา ต้องดูด้วย ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนแปลง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่าเอาซ้ายจัดมา แล้วดัดจริต เพราะนี่คือแผ่นดินที่บรรพบุรุษเสียเลือดเนื้อ ขอฝากรักกันเถอะ หยุดวาทกรรมการเมือง ในเมื่อกรรมการตัดสินแล้ว ขอให้อยู่เกมใครเกมมัน เป็นไปตามครรลอง ล้างแค้นกันไปมาก็ไม่มีวันจบ” ก่อนหน้านี้เอง “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ ก็เคยมีคำพูดถึงพรรคการเมืองที่แม้จะเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ก็เรียกได้ว่า แสบถึงทรวงกันมาแล้ว เมื่อครั้งสื่อมวลชนพยายามที่จะสัมภาษณ์กรณีพรรคเพื่อไทย และอนาคตใหม่หาเสียง และมีนโยบายตัดงบกระทรวงกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ที่ทำเอาผบ.ทบ.หันไปตอบผู้สื่อข่าวที่ถามประเด็น ด้วยอารมณ์ว่า ให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ยังไม่รวมถึงการที่ ผบ.ทบ. มอบประกาศนียบัตรให้ พ.ท.ปกิจ ผลฟัก รองหัวหน้ากองยุทธการมณฑลทหารบกที่ 12 ในฐานะผบ.ร้อย.รส.กกล.รส. จ.ปราจีนบุรี ที่มีการกระทบกระทั่ง พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ซึ่งกองทัพบบกก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ด้วย พร้อมกับชื่นชมนายทหารคนดังกล่าว ที่มีความอดทนอดกลั้น สามารถควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี จากการถูกยั่วยุที่ถูกหมิ่นประมาท ขณะปฏิบัติหน้าที่ ที่แม้ ผบ.ทบ.ออกมาให้สัมภาษณ์ทางการเมืองอย่างดุเดือดทุกครั้ง แต่ก็ทุกครั้งผบ.ทบ. ก็ย้ำถึงการเป็ทหารอาชีพทที่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองด้วยความอดทน อดกลั้นเป็นกลาง ดำเนินทุกอย่างตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งท่าทีของ บิ๊กแดง ที่ออกมามีแอ็กชั่นในช่วงนี้ แม้มีรัฐบาลคอยปกป้อง แต่ในทางกลับกันฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็เกิดการต่อต้าน โดยผ่านทางโซเชียล ด้วยการเปิดแคมเปญในเว็บไซต์ Change.or เพื่อร่วมลงชื่อถอดถอนพล.อ.อภิรัชต์ ออกจากตำแหน่งผบ.ทบ. ด้าน “สุรชัย ศิริไกร” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้วิเคราะห์และให้ความเห็น ต่อ “สยามรัฐ” ถึงปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะคำว่า “ฝ่ายซ้าย” และเจเนอเรชั่น แก๊ป ได้อย่างน่าสนใจ “ คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีแนวความคิดเอียงซ้าย เรียนจบจากประเทศฝรั่งเศส เขาต้องการที่ให้ประชาธิปไตยกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว ซึ่งแม้ฝ่ายทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามดำเนินการ แต่ก็ช้าไปในสายตาของพวกที่ต้องการเลือกตั้ง” สุรชัย มองว่า จุดยืนของแต่ละฝ่ายอยู่กันคนละข้าง ฝ่ายที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็จะไม่สนใจเรื่องการคอร์รัปชั่น ไม่สนใจเรื่องคดีของทักษิณ ที่ศาลตัดสิน และตอบโต้ฝ่ายทหารว่าต้องการยืดอายุ เพื่ออยู่นานๆ เรื่องเหล่านี้เป็นวาทกรรมเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนเอง ส่วนอีกฝ่ายจะพูดในเรื่องความมั่นคง ไม่ได้พูดถึงการทำงานที่ช้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีทั้งอ่อนและแข็งของตัวเอง ประเด็นอยู่ที่ความแตกต่างของเจเนอเรชั่น แก๊ป (Generation Gap) ที่จะเห็นได้ว่า ฝ่ายซ้ายจะเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาจะไม่รู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยยุคทักษิณ แต่เขามาโตในยุคทหาร ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็อาจจะรู้สึกอึดอัด ถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นความนิยมชมชอบในเรื่องประชาธิปไตย ที่อีกฝ่ายพยายามจะปลุกอยู่ ทำให้เอนเอียง สุรชัย มองว่า สิ่งเหล่านี้ จะเห็นได้จากคนที่เลือกฝ่ายซ้ายจะเป็นพวกคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก็เป็นเรื่องปกติของความแตกต่างระหว่างวัย ส่วนคนที่มีอายุตั้ง 30 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ ก็จะสนับสนุน ฝ่ายที่สร้างความมั่นคง เพราะเขารู้ว่าปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลก ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลชุดนี้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นเรื่องปกติระหว่างการเลือกตั้งหรือก่อนเลือกตั้ง ที่มีความพยายามเอาจุดอ่อนของแต่ละฝ่ายมาโจมตี และเน้นจุดแข็งตัวเองเพื่อเรียกคะแนนเสียง ซึ่งตรงนี้เป็นวิธีการหาเสียงในระบอบประชาธิปไตยซึ่งอยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ