บอร์ด สปสช.ห่วงผู้ป่วยน้ำท่วมภาคใต้ ไฟเขียวผู้ป่วยบัตรทอง รับบริการหน่วยบริการบัตรทองไม่เสียค่าใช้จ่าย บอร์ด สปสช.ห่วงผู้ป่วยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ ไฟเขียวผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการหน่วยบริการบัตรทองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้าน “หมอปิยะสกล” เร่งช่วยดูงบฉุกเฉินช่วยเหลือ รพ.ได้รับผลกระทบวิกฤติ ขณะที่ “ปลัด สธ.” เผย รพ.ชะอวดหนักสุด ย้ายผู้ป่วยหนักแล้ว 8 ราย ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในการประชุมบอร์ด สปสช.ว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้ถือเป็นภาวะเฉียบพลัน ซึ่งส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลหลายแห่งในพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเราคงต้องดูในส่วนของค่าใช้จ่ายงบฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือ รพ.ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ได้ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เท่าที่รับรายงาน รพ.ที่ประสบวิกฤตหนักขณะนี้ คือ รพ.ชะอวด โดยได้มีการย้ายผู้ป่วยหนัก 8 ราย ส่งต่อไปยัง รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ส่วนผู้ป่วยในอีก 40 ราย อยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ก่อน พร้อมกันนี้ได้ขอทีมแพทย์และบุคลากรจาก รพ.ในจังหวัดใกล้เคียงอย่าง จ.พังงา และภูเก็ต เข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากขณะนี้ทั้งแพทย์และพยาบาลตลอดจนเจ้าหน้าที่ รพ.เริ่มเหนื่อล้าแล้ว ทั้งนี้แม้ว่า รพ.มหาราชนครศรีธรรมราชจะมีน้ำล้อมรอบ แต่สถานการณ์ยังไม่หนัก ยังสามารถรับส่งต่อผู้ป่วยได้ ส่วนพื้นที่พัทลุง รพ.ในพื้นที่ยังดูแลตนเองได้ แต่ รพ.หลังสวนเริ่มมีปัญหาเพราะน้ำท่วมชั้นล่างหมดแต่ยังให้บริการได้ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศวิกฤตจากภาวะน้ำท่วมให้เป็นระดับ 3 แล้ว โดยตั้งหน่วยช่วยเหลือที่ จ.สุราษฎ์ธานี โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขคงจะเข้าไปร่วมตั้งหน่วยด้วยเพื่อช่วยเหลือประชาชน ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ ในฐานะรักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ป่วยจะต้องรับบริการยังหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ในกรณีภาวะฉุกเฉิน บอร์ด สปสช.ได้เคยมีมติร่วมกันให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่สามารถรับบริการรักษายังหน่วยบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามเกณฑ์ฉุกเฉิน และกรณีน้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือเป็นภาวะวิกฤตฉุกเฉินเช่นกัน ดังนั้นบอร์ด สปสช.มีมติให้ สปสช.สามารถการดำเนินการในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่ต้องรักษาดูแลต่อเนื่อง สามารถเข้าถึงบริการได้